ผลของการฝึกความทนทานแบบอยู่กับที่และแบบเคลื่อนไหวต่อความล้าของกล้ามเนื้อหลังในเพศชาย
คีรินท์ เมฆโหรา, วรรธนะ ชลายนเดชะ, เฉลิมพงศ์ ไพนุพงศ์*
Faculty of Physical Therapy and Applied Movement Science, Siriraj Hospital Mahidol University, Bangkok Thailand, 10700
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลของการฝึกความทนทานแบบอยู่กับที่และแบบเคลื่อนไหว ต่อการล้าของกล้ามเนื้อหลังในผู้ชายสุขภาพดี จำนวน 20 คน อายุระหว่าง 17-25 ปี ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มการฝึกความทนทานแบบอยู่กับที่ (10 คน) และ 2) กลุ่มการฝึกความทนทานแบบเคลื่อนไหว (10 คน) ความหนักของการฝึกเท่ากับ 30% ของค่าเวลาความทนทานในกลุ่มการฝึกแบบอยู่กับที่ และ 30% ของจำนวนสูงสุดของการแอ่นหลังซ้ำ ในกลุ่มการฝึกแบบเคลื่อนไหว ทำการฝึก 10 รอบต่อวันเป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ นาน 6 สัปดาห์ โดยจะทำการทดสอบเพื่อเพิ่มระดับการฝึกทุกสัปดาห์ ทำการวัดค่าตัวแปรทั้งสาม ได้แก่ ค่าเวลาความทนทาน และ จำนวนสูงสุดของการแอ่นหลังซ้ำ ก่อนการฝึกสัปดาห์ที่ 3 และสัปดาห์ที่ 6ผลการศึกษาพบค่าเวลาความทนทาน (วินาที) ของกลุ่มการฝึกความทนทานแบบอยู่กับที่มีค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบก่อนฝึก (104.4±16.85) กับสัปดาห์ที่ 3 (144.2±27.86) และก่อนฝึกกับสัปดาห์ที่ 6 (204±46.79) กลุ่มการฝึกความทนทานแบบเคลื่อนที่ไม่มีการเพิ่มขึ้น (ก่อนการฝึก=102.5±33.46, สัปดาห์ที่ 3=110.4±35.34 และ สัปดาห์ที่ 6=132.50±40.12) สำหรับจำนวนสูงสุดของการแอ่นหลังซ้ำ มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในสัปดาห์ที่ 3 (เพิ่ม 36% จากก่อนฝึก) และสัปดาห์ที่ 6 (เพิ่ม 118% จากก่อนฝึก) ในกลุ่มการฝึกแบบอยู่กับที่ ในขณะที่กลุ่มการฝึกแบบเคลื่อนไหวมีการเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ 3 (เพิ่ม 56% จากก่อนฝึก) และสัปดาห์ที่ 6 (เพิ่ม 212% จากก่อนฝึก) จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าการฝึกความทนทานของกล้ามเนื้อหลังแบบอยู่กับที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของความทนทานแบบอยู่กับที่และแบบเคลื่อนไหว ในขณะที่การฝึกความทนทานแบบเคลื่อนไหวมีผลเฉพาะการเพิ่มขึ้นของความทนทานแบบเคลื่อนไหวเท่านั้น
ที่มา
วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ปี 2548, December ปีที่: 5 ฉบับที่ 1 หน้า 43-57
คำสำคัญ
Back extensor muscle, Dynamic endurance training, Fatigability, Isometric endurance training, กล้ามเนื้อหลัง, การฝึกความทนทานแบบอยู่กับที่, การฝึกความทนทานแบบเคลื่อนไหว, การล้า