การประเมินระบบดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ของเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ (CUP) ภายใต้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า
สุพัตรา ศรีวณิชชากร
สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบติดตามประเมินผลหน่วยบริการปฐมภูมิในระดับมหภาค ผลการศึกษาส่วนนี้เป็นการประเมินระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานของเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ (CUP) ซึ่งเป็นผลรวมของการบริการร่วมระหว่างโรงพยาบาล และสถานีอนามัย/ ศูนย์สุขภาพชุมชน ในพื้นที่ศึกษารวมทั้งหมด 18 เครือข่าย 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยประเมินทั้งส่วนที่เป็นระบบงาน กระบวนการบริการ และผลลัพธ์สุขภาพด้านคลินิก ผลลัพธ์ที่เป็นศักยภาพของผู้ป่วยเบาหวานในด้านความรู้ การปฏิบัติตัว และคุณภาพชีวิต เปรียบเทียบระหว่างพื้นที่ ประเมินโดยใช้แบบสอบถาม การประเมินโดยบุคลากรในหน่วยงาน และการสังเกต สัมภาษณ์ เก็บข้อมูลจากเอกสารโดยผู้ประเมินภายนอกหน่วยงาน ผลการศึกษาแสดงถึงระดับคุณภาพของระบบงานในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีความแตกต่างกันสูง และส่วนใหญ่ยังดำเนินการในลักษณะตั้งรับ จัดการกับพฤติกรรมเสี่ยงไม่มาก ระบบติดตามภาวะแทรกซ้อนยังจัดการไม่ต่อเนื่อง หน่วยบริการปฐมภูมิยังได้รับการพัฒนาในด้านความรู้ ความสามารถไม่เต็มที่ ส่วนใหญ่มีบทบาทในด้านการคัดกรอง และติดตามผู้ป่วย ส่วนผลลัพธ์สุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานพบว่าผู้คุมระดับน้ำตาลได้ดีโดยพิจารณาจากระดับ HBA1c < 7 mg% มีร้อยละ 38 มีความแตกต่างระหว่างพื้นที่และกลุ่มที่เป็นมาน้อยกว่า 5 ปี มีแนวโน้มคุมได้ดีกว่ากลุ่มที่เป็นมานานกว่า 5 ปี มีระดับไขมันในเลือดสูงร้อยละ 10-19 หญิงสูงกว่าชาย ภาคกลางและกรุงเทพฯสูงกว่าภาคอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับค่าดัชนีมวลกายที่สูง เริ่มมีความผิดปกติของไต (microalbumin > 30) ร้อยละ 31-50 มีค่าครีอะตีนินสูงร้อยละ 2-30โดยมีความแตกต่างกันระหว่างพื้นที่กลุ่มที่เป็นมานานกว่า 5 ปี มีความผิดปกติสูงกว่า ผลความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเบาหวานมีความแตกต่างระหว่างพื้นที่ การปฏิบัติตัวในด้านการรักษา และการดูแลสุขภาพทั่วไปส่วนใหญ่ดี การปฏิบัติด้านการบริโภคมีระดับดีน้อยกว่าด้านอื่น การดูแลเท้าและการดูแลกรณีพิเศษต่างๆ เป็นหมวดที่ผู้ป่วยเบาหวานมีความรู้ และการปฏิบัติในระดับที่เหมาะสมน้อย ด้านคุณภาพชีวิตพบว่าด้านจิตใจมีสภาพที่ปานกลาง มีค่าคะแนนต่ำกว่าด้านร่างกาย กลุ่มที่เป็นน้อย และนานกว่า 5 ปี แตกต่างกันเฉพาะคุณภาพชีวิตด้านกาย และความเป็นอิสระ แต่ในด้านอื่นๆ ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ มีความแตกต่างระหว่างพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่แตกต่างไม่มาก ในพื้นที่ที่มีระดับคะแนนความรู้ การปฏิบัติตัวดี ก็มีแนวโน้มค่าคุณภาพชีวิตที่ดีในทิศทางเดียวกัน ไม่พบความแตกต่างระหว่างพื้นที่เมืองและชนบทที่ชัดเจน จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการประเมินระบบดูแลผู้ป่วยเบาหวานสามารถเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สะท้อนคุณภาพของเครือข่ายบริการปฐมภูมิได้ และสามารถใช้กระบวนการประเมินระบบและผลลัพธ์ด้านคลินิกบางตัวในการประเมินเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่ได้
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2550, April-June ปีที่: 1 ฉบับที่ 1 หน้า 17-34
คำสำคัญ
Evaluation, Diabetic patient, PCU, Universal coverage system