การปิดกั้นหลอดเลือดแดงฮัยโปแกสตริคชั่วคราวมีประสิทธิผลลดการเสียเลือดจากการผ่าตัดมดลูก
ชาลี สโมสร
Kabinburi Hospital, Prachinburi Province
บทคัดย่อ
                การศึกษาเป็นแบบเปรียบเทียบประสิทธิผลลดการเสียเลือดระหว่างกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปิดกั้นหลอดเลือดฮัยโปแกสตริคและไม่ได้ปิดกั้นก่อนทำการผ่าตัดมดลูกทางช่องท้อง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้มารับบริการผ่าตัดมดลูกทางช่องท้องเพื่อบำบัดเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกที่โรงพยาบาลกบินทร์บุรีในช่วงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2543- 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 และได้รับการแบ่งกลุ่มโดยวิธีสุ่มแบบง่ายเป็นกลุ่มศึกษา 33 รายและกลุ่มควบคุม 32 ราย หลังการผ่าตัดมดลูก กลุ่มตัวอย่างถูกตัดออก 5 ราย เนื่องจากพบว่าไม่ใช่เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก เหลือกลุ่มศึกษาและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 30 ราย กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดได้รับการเตรียมผ่าตัด ดูแลขณะผ่าตัด และหลังผ่าตัดด้วยมาตรฐานเดียวกัน กลุ่มศึกษาได้รับการผ่าตัดปิดกั้นหลอดเลือดฮัยโปแกสตริค ทั้งคู่ก่อนการผ่าตัดมดลูก และคลายการปิดกั้นหลังตัดมดลูกออกและห้ามเลือดบริเวณผ่าตัดเสร็จ ผลการศึกษาข้อมูลทั่วไปและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความยากง่ายของการผ่าตัดกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่ม ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้ป่วยกลุ่มศึกษาเสียเลือดในขณะผ่าตัด 350.67±140.38 มล. และกลุ่มควบคุมเสียเลือด572.83±207.82 มล. ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ; ปริมาณเลือดที่ผู้ป่วยกลุ่มศึกษาได้รับก็น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (0.13±0.346 กับ 0.63±0.765 หน่วย) ระยะเวลาในการผ่าตัดมดลูกผู้ป่วยกลุ่มศึกษาน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (85.23±17.17 กับ 104.53±16.06 นาที) ค่าฮีมาโทคริด จำนวนผ้าอนามัยที่ใช้หลังผ่าตัดใน 24 ชั่วโมงแรก ไข้หลังผ่าตัด, การติดเชื้อ, ภาวะบาดเจ็บต่ออวัยวะอื่น และจำนวนวันนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังผ่าตัด ไม่แตกต่างกันทางสถิติระหว่างกลุ่มผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม จากผลการศึกษาสรุปได้ว่า การผ่าตัดปิดกั้นหลอดเลือดแดงฮัยโปแกสตริคชั่วคราวก่อนการผ่าตัดมดลูก ช่วยลดปริมาณการเสียเลือดขณะผ่าตัดโดยไม่มีผลเสียเพิ่มจากการผ่าตัด
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2550, October-December ปีที่: 1 ฉบับที่ 3 หน้า 394-402
คำสำคัญ
Abdominal hysterectomy, Temporary hypogastric artery occlusion, การปิดกั้นหลอดเลือดฮัยโปแกสตริคชั่วคราว, การผ่าตัดมดลูก