ผลของการนวดกดจุดสะท้อนฝ่ามือต่อระดับความปวดในผู้ป่วยหลังผ่าตัดช่องท้อง
ชัชมน ดำรงรักษ์ธรรม*, ทิพา ต่อสกุลแก้ว, สุวิมล กิมปี, อุษาวดี อัศดรวิเศษThe Police General Hospital, Bangkok. E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการนวดกดจุดสะท้อนฝ่ามือต่อระดับปวดในผู้ป่วยหลังผ่าตัดช่องท้องรูปแบบการวิจัย: เป็นการวิจัยเชิงทดลองรูปแบบสลับ (Simple Change Over design)วิธีดำเนินการวิจัย: โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยหลังผ่าตัดช่องท้อง จำนวน 30 ราย ที่มารับการรักษาในหอผู้ป่วยศัลยกรรม โรงพยาบาลตำรวจ ระหว่างกันยายน 2551 ถึง มกราคม 2552 ซึ่งสุ่มเข้าสู่ระยะทดลองได้รับการนวดกดจุดสะท้อนฝ่ามือจริง และระยะควบคุมได้รับการนวดกดจุดสะท้อนฝ่ามือหลอก เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ คู่มือการนวดกดจุดสะท้อนฝ่ามือในการลดความปวดในผู้ป่วยหลังผ่าตัดช่องท้อง แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป แบบบันทึกคะแนนความปวดแผลผ่าตัดช่องท้องและแบบประเมินความพึงพอใจต่อการนวดกดจุดสะท้อนฝ่ามือ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน repeated ANOVA และ ANCOVA โดยใช้คะแนนก่อนการทดลองเป็นตัวแปรร่วมผลการวิจัย: พบว่าผู้ป่วยหลังผ่าตัดช่องท้องหลังได้รับการนวดกดจุดสะท้อนฝ่ามือจริง และหลอกที่เวลา 0, 30, 90 และ 150 นาที มีค่าเฉลี่ยคะแนนความปวดน้อยกว่าก่อนได้รับการนวด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และหลังได้รับการนวดกดจุดสะท้อนฝ่ามือจริงที่เวลา 90 นาที ค่าเฉลี่ยคะแนนความปวดน้อยกว่าที่เวลา 0 นาทีหลังนวดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และค่าเฉลี่ยคะแนนความปวดในผู้ป่วยหลังผ่าตัดช่องท้อง หลังได้รับการนวดกดจุดสะท้อนฝ่ามือหลอกที่เวลา 0, 30, 90 และ 150 นาที อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ผู้ป่วยหลังได้รับการนวดกดจุดสะท้อนฝ่ามือจริงและหลอกมีค่าเฉลี่ยคะแนนความพึงพอใจแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าเฉลี่ยคะแนนความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่รู้สึกผ่อนคลายและได้พักผ่อนกันทั้ง 2 วิธีสรุปและข้อเสนอแนะ: ควรนำการนวดกดจุดสะท้อนฝ่ามือมาใช้ในบำบัดร่วมกับการให้การพยาบาลเพื่อบรรเทาความปวดในผู้ป่วยหลังผ่าตัดช่องท้อง
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์ ปี 2552, May-August
ปีที่: 27 ฉบับที่ 2 หน้า 49-58
คำสำคัญ
pain, Reflexology, นวดกดจุดสะท้อน, นวดกดจุดสะท้อนฝ่ามือ, ปวด, ปวดหลังผ่าตัด, ผ่าตัดช่องท้อง, Post operative pain, addominal surgery, Hand reflexology