การศึกษาเปรียบเทียบผลของการใช้ยาละลายลิ่มเลือดทันทีที่ห้องฉุกเฉินกับการสวนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือด (Percutaneous coronary intervention, PCI) ในการรรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันชนิด ST elevation myocardial infarction (STEMI) (การศึกษานำร่องโดยใช้ยา TNK-tPA ในคนไทย)
ณกรณ์ สิทธินามสุวรรณ*, พลตรี ชุมพล เปี่ยมสมบูรณ์, พลตรี ปชุม ทาสุคนธ์, พลตรี ประสาท เหล่าถาวร, พันตรีหญิง วีรพร ปิ่นพานิชการ, พันเอก ชาญณรงค์ นาคสวัสดิ์, พันเอกโสภณ สงวนวงษ์, พันโท นครินทร์ ศันสนยุทธ, พันโท ปรีชา เอื้อโรจน์อังกูร, พันโทหญิง วราภรณ์ ติยานนท์
Division of Cardiology, Department of Medicine, Phramongkutklao Hospital. 315 Rajvithi road, Phrayathai district, Rachatavee, Bangkok Thailand 10400. E mail address: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: ศึกษาเปรียบเทียบผลของการให้ยาละลายลิ่มเลือดทันที่ที่ห้องฉุกเฉินกับการสวนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือด (PCI) ในการรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันชนิด STEMI ในคนไทย วิธีการศึกษา: เก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันชนิด STEMI ภายใน 12 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ความดันต่ำ น้ำท่วมปอดที่รุนแรง คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิด Ventricular arrhythmia เสียชีวิตมาก่อนเข้าโรงพยาบาล และไม่มีข้อห้ามในการให้ยาละลายลิ่มเลือด หลังจากนั้นสุ่มแบ่งผู้ป่วยตามลำดับ เพื่อรักษาโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือด TNK-tPA ทันทีที่ห้องฉุกเฉิน หรือการสวนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือด (PCI) ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดจะได้รับการฉีดสีเส้นเลือดหัวใจภายใน 7 วัน เพื่อดูผลของยาละลายลิ่มเลือด วัตถุประสงค์หลักคือดูผลรวมของการเสียชีวิต การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายซ้ำ และการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก ภายใน 30 วัน วัตถุประสงค์รองคือการดูการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซ้ำ ภาวะหัวใจวาย ภาวะความดันต่ำ ภาวะคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิด Venticualr arrthythmiz การสวนหัวใจซ้ำ การผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ (Coronary artery bypass graft, CABG) การใช้เครื่องกระตุ้นความดันในหลอดเลือดใหญ่ (Intra-aortic balloon pump, IABP) การใช้เครื่องช่วยหายใจ ภาวะเลือดออก ค่ารักษาพยาบาลและระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาลภายใน 30 วันผลการศึกษา: ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 24 คน จาก 40 คน ลักษณะพื้นฐานของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม เวลาระหว่างผู้ป่วยเกิดอาการถึงตอนสุ่มแบ่งกลุ่มเท่ากับ 2.1±1.6 และ 2.5±2.8 ชั่วโมง ในกลุ่มได้ยาละลายลิ่มเลือดและกลุ่ม PCI ตามลำดับ เวลาระหว่างผู้ป่วยได้รับการสุ่มแบ่งกลุ่ม จนถึงได้รับการรักษาเท่ากับ 116±109 และ 122±105 นาที ในกลุ่มได้ยาละลายลิ่มเลือด และกลุ่ม PCI ตามลำดับ มีผู้ป่วยหนึ่งคนในกลุ่ม PCI เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายซ้ำ และมีภาวะเลือดออกในสมองตามมา พบว่ากลุ่ม PCI มีภาวะแทรกซ้อนเช่น หัวใจวาย  ความดันโลหิตต่ำ มีภาวะเลือดออกมากกว่ากลุ่มได้ยาละลายลิ่มเลือด แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้ป่วยครึ่งหนึ่ง (6/12 คน) ในกลุ่มที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด หลังจากฉีดสีเส้นเลือดหัวใจพบว่ามีเส้นเลือดตีบมากและต้องทำการขยายหลอดเลือด (PCI) ต่อค่ารักษาพยาบาล 191,960±110,029 และ 248,714±266,854 บาท ในกลุ่มได้ยาละลายลิ่มเลือดและกลุ่ม PCI ตามลำดับ (ค่า p 0.95) ระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาล 6±3 และ 10.6±14 วันในกลุ่มได้ยาละลายลิ่มเลือดและกลุ่ม PCI ตามลำดับ (ค่า p 0.88)สรุป: จากการศึกษานี้พบว่า การรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันชนิด STEMI ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด TNK-tPA ทันทีที่ห้องฉุกเฉิน มีประสิทธิภาพดี ปลอดภัย และสามารถนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้
ที่มา
วารสารโรคหัวใจ ปี 2552, July ปีที่: 22 ฉบับที่ 3 หน้า 69-78