การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพการลดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดหลังการเจาะเนื้อต่อมลูกหมากทางทวารหนักระหว่างวิธีทำความสะอาดทวารหนักด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและไม่ใช้
ประภาพรรณ ประถมบุตร, พิทักษ์ สันตนิรันดร์, ภาณุพงศ์ กาญจนวงศ์ดีงาม*, วิทย์ วิเศษสินธ์ุ, สุพรรณี นิลล์กุลวัฒน์
Division of Urology, Department of Surgery, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University, Bangkok 10400, Thailand
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาถึงประสิทธิภาพของการทำความสะอาดทวารหนักด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ในการลดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด (bacteremia) และการลดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในกระเลือด (sepsis complication) หลังการเจาะเนื้อต่อมลูกหมากทางทวารหนักวัสดุและวิธีการ: อาสาสมัคร 100 คน ที่มีข้อบ่งชี้ในการการเจาะเนื้อต่อมลูกหมาก เข้าร่วมการศึกษาระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551 ถึง เดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 ทุกคนรับการสวนทวารหนักด้วย unison enema ก่อนทำหัตถการหนึ่งวัน และรับประทานทานยา ciprofloxacin 500 มิลลิกรัม ก่อนทำหัตถการ 0.5-1 ชั่วโมง อาสาสมัครทั้งหมด ถูกสุ่มแบ่งอยู่ในกลุ่มทำความสะอาดทวารหนักด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อจำนวน 50 คน และกลุ่มควบคุม 50 คน อาสาสมัครแต่ละคนรับการเจาะเนื้อต่อมลูกหมากจำนวน 12 ชิ้น และรับการเจาะเลือด 10 มิลลิลิตร เพื่อส่ง เพาะเชื้อ aerobe และ anaerobe ผู้นิพนธ์โทรศัพท์สอบถามอาการของอาสาสมัครหลังจากหัตถการ 48-72 ชั่วโมงผลการศึกษา: พบเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดของอาสาสมัครกลุ่มควบคุมจำนวน 9 คนและในอาสาสมัครกลุ่มทำความสะอาดทวารหนักจำนวน 2 คน (p = 0.025) อาสาสมัครสามคนมีไข้หลังทำหัตถการ (สองคนอยู่ในกลุ่มควบคุมหนึ่งคนอยู่ในกลุ่มทำความสะอาดทวารหนัก) และอาการไข้หายไปได้เอง อาสาสมัครสองคนในกลุ่มควบคุมกลับมาโรงพยาบาลด้วยการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะและเลือดออกทางทวารหนัก ไม่มีอาสาสมัครคนใดเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในกระแสเลือดสรุป: การทำความสะอาดทวารหนักด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อสามารถลดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด และอาจลดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในกระเลือดหลังการเจาะเนื้อต่อมลูกหมากทางทวารหนัก
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2552, December ปีที่: 92 ฉบับที่ 12 หน้า 1621-1626
คำสำคัญ
Povidone-iodine, Bacteremia, Biopsy, Prostate