ผลของกิจกรรมการฟื้นฟูหัวใจต่อระบบการแข็งตัวของเลือดในผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจ
บวรลักษณ์ ทองทวี, วิไล อโนมะศิริ*
Department of Biochemistry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University, Bangkok 10330, Thailand. E-mail: FMEDWAN@md.chula.ac.th
บทคัดย่อ
จุดมุ่งหมายของการศึกษา เพื่อดูอิทธิพลของการออกกำลังกายในโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจต่อการละลายลิ่มเลือด ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจมีความสำคัญต่อการเพิ่มคุณภาพชีวิต และลดอุบัติการณ์ของการเป็นโรคซ้ำ โปรแกรมนี้ใช้การออกกำลังกาย 8 สัปดาห์, 4 วันต่อสัปดาห์, 30 นาทีต่อวัน ที่ความหนักในระดับเบาถึงปานกลาง  ผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจจำนวน 33 คน ที่เข้าร่วมโครงการศึกษานี้ เป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่รับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งมีอายุอยู่ระหว่าง 40 ปี ถึง 70 ปี โดยสุ่มแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญของระดับ ทิชชู พลาสมิโนเจน แอกติวิเตอร์ (ทั้งแอนติเจนและแอกติวิตี) พลาสมิโนเจน แอกติวิเตอร์ อินฮิบิเตอร์ วัน (ทั้งแอนติเจน และแอกติวิตี) เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังการฝึกการออกกำลังกาย 8 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ภายหลังเสร็จสิ้นการฝึกที่ 8 สัปดาห์ พบการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ของปัจจัยการละลายลิ่มเลือด โดยมีการลดลงของระดับพลาสมิโนเจน แอกติวิเตอร์ อินฮิบิเตอร์ วันจาก 16.3 (3.7) เป็น 14.6 (6.3) อาร์บิทารี ยูนิตต่อมิลลิลิตร (ที่ระดับนัยสำคัญ เท่ากับ 0.024) และมีการเพิ่มขึ้นของทิชชู พลาสมิโนเจน แอกติวิเตอร์ แอกติวิตี จาก 2.3 (0.8) เป็น 2.7 (0.5) อินเตอร์เนชั่นแนล ยูนิตต่อมิลลิลิตร และมีการเพิ่มขึ้นของทิชชู พลาสมิโนเจน แอกติวิเตอร์ แอนติเจน จาก 7.5 (2.9) เป็น 9.2 (2.7) นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร (ที่ระดับนัยสำคัญ เท่ากับ 0.01) ในกลุ่มทดลอง เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังออกกำลังกาย ที่ระดับความหนัก 65 เปอร์เซ็นต์ของการใช้ออกซิเจนสูงสุด พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของความสามารถสูงสุดของการใช้ออกซิเจน อัตราการเต้นของหัวใจขณะพัก และระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ หลังฝึก 8 สัปดาห์ การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่เข้าร่วมโปรแกรมออกกำลังกายฟื้นฟูสภาพหัวใจ ระดับความหนักเบาจนถึงปานกลาง มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของสมรรถภาพทางกาย และสุขภาพร่างกาย ถึงแม้ว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่มากพอจนมีผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของปัจจัยการละลายของลิ่มเลือดจากการฝึก 8 สัปดาห์ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรได้รับการแนะนำให้เข้าร่วมในโปรแกรมออกกำลังกายฟื้นฟูสภาพหัวใจนี้ ซึ่งจะไม่ได้รับอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงของการทำงานของการละลายลิ่มเลือด แต่การออกกำลังกายยังทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้น
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2548, Apirl ปีที่: 88 ฉบับที่ Suppl 4 หน้า S242-248
คำสำคัญ
Cardiac rehabilitation, Fibrinolysis, PAI-1, t-PA