ผลของยา montelukast ชนิดรับประทานในผู้ป่วยโรคหืดที่มีอาการเฉียบพลันระดับรุนแรงในห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลรามาธืบดี
กัลยา ปัญจพรผล*, ประภาพร พรสุริยะศักดิ์, ศศิวิมล รัตนสิริ, สุมาลี เกียรติบุญศรี
Division of Pulmonary and Critical Care Medicine, Department of Medicine
บทคัดย่อ
                โรคหืดระยะเฉียบพลันเป็นปัญหาที่สำคัญทางสาธารณสุข ในประเทศไทยมีผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 1,000,000 รายต่อปีที่ต้องเข้ารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินด้วยอาหารหอบเฉียบพลัน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันมีแนวทางการรักษาโรคหืดระยะเฉียบพลันตามมาตรฐาน ยังพบว่า มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและมีอาการหืดกำเริบซ้ำหลังจากรักษาจากห้องฉุกเฉินจำนวนมากวัตถุประสงค์: ประเมินประสิทธิภาพ montelukast ชนิดรับประทานที่เพิ่มเติมจากการรักษาโรคหืดระยะเฉียบพลันตามมาตรฐาน ในการรักษาที่ห้องฉุกเฉินและติดตามการรักษา 7 วันหลังจำหน่ายจากห้องฉุกเฉินวิธีการวิจัย: เป็นการศึกษาแบบ prospective, randomized, double-blinded, placebo-controlled ผู้เข้าร่วมการวิจัยเป็นผู้ป่วยโรคหืดระยะเฉียบพลันที่แผนกห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลรามาธิบดี ถูกคัดกรองโดยผู้วิจัย หลังพ่นยา  salbutamol 2.5 มก. ค่า PEFR น้อยกว่าร้อยละ 60 predicted ถูกสุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับยา montelukast ชนิดรับประทานขนาด 5 มก. จำนวน 4 เม็ด หรือยาหลอก เพิ่มเติมจากการรักษาโรคหืดระยะเฉียบพลันตามมาตรฐานโดยการรักษาเป็นไปตาม Ramathibodi Asthma Guideline มีการบันทึกการเปลี่ยนแปลงของค่า PEFR อาการแสดงของผู้ป่วยที่เวลา 20, 40, 60 และ 120 นาทีหลังจากได้รับยา บันทึกจำนวนการใช้ยาพ่น salbutamol, combined B2 agonist และ ipratopium bromide 0.5 มก. Systemic corticosteroids และจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลังจากจำหน่ายจากห้องฉุกเฉิน ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาต่อเนื่องใน 7 วัน เพื่อบันทึกอาการหืดกำเริบและผลข้างเคียงจากการใช้ยาผลการศึกษา: ผู้เข้าร่วมการวิจัยทั้งหมด 36 ราย แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้ montelukast 19 ราย กลุ่มที่ได้ยาหลอก 17 ราย ในกลุ่ม montelukast มีการเพิ่มขึ้นของค่า PEFR จาก baseline ร้อยละ 24.26 ที่ 20 นาที, ร้อยละ 42.70 ที่ 40 นาที, ร้อยละ 49.39 ที่ 60 นาที และร้อยละ 60.26 ที่ 120 นาที (P = 0.005, 0.003, 0.002 ตามลำดับ)  กลุ่มยาหลอก มีการเพิ่มขึ้นของค่า PEFR จาก baseline ร้อยละ 8.64 ที่ 20 นาที, ร้อยละ 21.75 ที่ 40 นาที, ร้อยละ 33.17 ที่ 60 นาที และร้อยละ 38.12 ที่ 120 นาที) (P = 0.136, 0.016, 0.001 ตามลำดับ) ในช่วงเวลาการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน กลุ่มที่ได้รับ montelukast อัตราชีพจร อัตราการหายใจมีแนวโน้มลดลง (P = 0.885, 0.340 ตามลำดับ) เสียงหวีด (wheeze) หายไป อย่างมีนัยสำคัญที่ 60 นาที (P=0.037) การใช้ยาขยายหลอดลม อัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและผลข้างเคียงจากการใช้ยาในทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติสรุป: การใช้ยา montelukast ชนิดรับประทาน ขนาด 20 มก. ครั้งเดียวเสริมจากการรักษามาตรฐาน ในผู้ป่วยโรคหืดที่มีอาการเฉียบพลันระดับรุนแรงสามารถขยายหลอดลมได้อย่างรวดเร็วทำให้ค่า PEFR สามารถถึงเป้าหมายที่สามารถจำหน่ายผู้ป่วยจากห้องฉุกเฉินได้เร็วและอาจทำให้สามารถลดระยะเวลาการรักษาที่ห้องฉุกเฉินได้
ที่มา
วารสารวัณโรค โรคทรวงอกและเวชบำบัดวิกฤต ปี 2550, เมษายน-มิถุนายน ปีที่: 28 ฉบับที่ 2 หน้า 103-113