ผลของโปรแกรมการสนับสนุนและให้ความรู้ต่อคุณภาพชีวิตของผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านม
Malai Muttarak. Tipaporn Wonghongkul*, ขวัญพนมพร ธรรมไทย, ปิยวรรณ สวัสดิ์สิงห์, พัชราภรณ์ อารีย์, ภัทราภรณ์ ทุ่งปันคำ
Faculty of Nursing, Chiang Mai University, Thailand
บทคัดย่อ
ผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมต้องเผชิญกับผลกระทบระยะยาวจากโรคและการรักษาซึ่งกระทบ ต่อคุณภาพชีวิต การวิจัยกึ่งทดลอง (quasi experimental design) ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการสนับสนุนและให้ความรู้ต่อคุณภาพชีวิตของผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมที่ได้รับการวินิจฉัยนาน 5 ปีขึ้นไป จำนวน 61 ราย ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์ กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง ถูกทำให้มีความคล้ายคลึงกันก่อนแบ่งเข้ากลุ่มเป็นกลุ่มควบคุม 31 คน และกลุ่มทดลอง 30 คนโดยวิธีจับคู่ด้วย อายุ ระดับการศึกษา และจำนวนปีที่รอดชีวิต เครื่องมือที่ใช้ดำเนินการวิจัย คือโปรแกรมการสนับสนุนและให้ความรู้ซึ่งถูกจัดกระทำ 4 ครั้ง นานครั้งละ 4 ชั่วโมง แต่ละครั้งจัดห่างกัน 2 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางสุขภาพ แบบสอบถามคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม และแบบสอบถามการจัดการตนเอง แบบสอบถามทั้งหมดจะถูกตอบโดยกลุ่มตัวอย่าง เก็บรวบรวมข้อมูล 3 ครั้ง คือ ก่อนเข้าโปรแกรม สิ้นสุดโปรแกรม และอีก 3 เดือนหลังสิ้นสุดโปรแกรม ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตใน 3 ระยะ คือ 6.43 (SD=1.21) 6.30 (SD=1.18) และ 5.86 (SD=1.39) ตามลำดับ ส่วนกลุ่มควบคุมมีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตแต่ละระยะคือ 5.82 (SD=1.22) 5.51 (SD=1.09) และ 5.41 (SD=1.14) ตามลำดับ ทดสอบความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตทั้ง 3 ระยะระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองด้วย สถิติ Repeated measure ANOVA พบว่าไม่มีอิทธิพลร่วมระหว่างชนิดของการทดลองและระยะเวลา (F Wilk’s Lamba = .763, p=.471) และยังพบความแตกต่างค่าเฉลี่ยของคุณภาพชีวิตระหว่างกลุ่ม (F =5.313, p= .025) และภายในกลุ่ม(F =6.682, p= .002) จากนั้นทดสอบความแตกต่างระหว่างคู่ด้วยสถิติ Bonferroni ผลพบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตระยะ 1 กับ ระยะ 3 ในกลุ่มทดลอง แม้ว่าผลการวิจัยจะไม่ได้แสดงให้เห็นความแตกต่างทางสถิติของคุณภาพชีวิตระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม แต่พบว่าในกลุ่มทดลองมีการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมการดูแลตนเองซึ่งเป็นตัวแปรที่นำไปสู่คุณภาพชีวิต ดังนั้นควรมีการพัฒนาโปรแกรมสนับสนุนและให้ความรู้ในผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมต่อไปเนื่องจากเป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นต่อการเพิ่มคุณภาพชีวิต
ที่มา
วารสารวิจัยทางการพยาบาล ปี 2551, July - September ปีที่: 12 ฉบับที่ 3 หน้า 179-194
คำสำคัญ
คุณภาพชีวิต, ผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านม, โปรแกรมการสนับสนุนและให้ความรู้, Quality of life, Educative-supportive program, Breast cancer survivors