ปัจจัยคัดสรรที่สัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่โรคเนื้องอกสมองหลังผ่าตัด
ชนกพร จิตปัญญา, สุรชัย เคารพธรรม, อำนวยพร อาษานอก*
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
บทคัดย่อ
โรคเนื้องอกสมองเป็นปัญหาที่สำคัญ แม้ว่าการผ่าตัดสมองจะเป็นวิธีการที่ยอมรับว่าสามารถช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยไว้ได้มากมาย แต่ภายหลังการผ่าตัดผู้ป่วยมักมีปัญหาของคุณภาพชีวิต การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยคัดสรร ได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา กลุ่มอาการไม่สบาย การทำหน้าที่ด้านร่างกาย การทำหน้าที่ด้านพุทธิปัญญา การสนับสนุนทางสังคม กับ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่โรคเนื้องอกสมองหลังผ่าตัด กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ โรคเนื้องอกสมองหลังผ่าตัด จำนวน 130 คน เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลประกอบด้วยแบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินกลุ่มอาการไม่สบายที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรม แบบประเมินการทำหน้าที่ด้านพุทธิปัญญาของคณะกรรมการจัดทำแบบทดสอบสภาพสมองเบื้องต้น ฉบับภาษาไทย พ.ศ. 2542 แบบประเมินการสนับสนุนทางสังคม Personal Resource Questionnaire (PRQ 85: Part 2) สร้างขึ้นโดย Brandt และ Weinert (1981) แบบประเมินคุณภาพชีวิตของ Weinert et al. (1995) ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และมีค่าความเที่ยงจากการคำนวณค่าสัมประสิทธ์แอลฟาครอนบาคเท่ากับ .80, .68, .80, และ .89 ตามลำดับ และแบบประเมินการทำหน้าที่ด้านร่างกายที่ผู้วิจัยแปลและปรับปรุงจากแบบวัด Karnofsky Performance Status Scale (KPS) วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และไคว์สแควร์ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้1. คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่โรคเนื้องอกสมองหลังผ่าตัดอยู่ในระดับดี ( X = 2.74, SD =0.48)2. เพศมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่โรคเนื้องอกสมองหลังผ่าตัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (c= .241, chi-square = 8.01)3. อายุ และระดับการศึกษาไม่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่โรคเนื้องอกสมองหลังผ่าตัด4. กลุ่มอาการไม่สบายมีความสัมพันธ์ทางลบกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่โรคเนื้องอกสมองหลังผ่าตัด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ -.5765. การทำหน้าที่ด้านร่างกาย การทำหน้าที่ด้านพุทธิปัญญา การสนับสนุนทางสังคม มีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่โรคเนื้องอกสมองหลังผ่าตัด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ .616, .284, .375 ตามลำดับ การปฏิบัติการพยาบาลควรมีการวางแผนฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยทันทีหลังจากพ้นระยะวิกฤต พยาบาลควรประเมินแหล่งสนับสนุนทางสังคมของครอบครัวผู้ป่วยและช่วยให้ครอบครัวผู้ป่วยใช้แหล่งประโยชน์ที่มีอยู่ได้อย่างเต็มศักยภาพ
ที่มา
วารสารพยาบาลสาธารณสุข ปี 2551, May-August ปีที่: 22 ฉบับที่ 3 หน้า 45-47
คำสำคัญ
คุณภาพชีวิต, การสนับสนุนทางสังคม, กลุ่มอาการไม่สบาย, การทำหน้าที่ด้านพุทธิปัญญา, การทำหน้าที่ด้านร่างกาย, Quality of life, Functional status, Symptom Cluster, Cognitive Status; Social Support