การศึกษาติดตามคุณภาพชีวิตผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ 3 เดือน
พรรณวดี พุธวัฒนะ, พรพิมล มาศนรากรณ์*, สุกษม อัตนวานิช
Department of Nursing, Faculty of Medicine, Ramathibodi Hospital, Mahidol University
บทคัดย่อ
                การวิจัยเชิงบรรยายครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจและติดตามภายหลังการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ 3 เดือน กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วย 40 ราย ที่รับการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 3 แห่งในกรุงเทพมหานคร ระหว่างเดือนมีนาคม ถึงเดือนกันยายน 2543 ที่พูดและฟังภาษาไทยได้ และยินดีเข้าร่วมการวิจัย ผู้ป่วยที่คัดออกจากการวิจัยคือ ผู้ที่ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ครบทั้ง 2 ช่วง เวลาของการเก็บข้อมูลหรืออยู่ในโรงพยาบาลนานกว่า 2 เดือน เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินผลกระทบจากความเจ็บป่วยที่สร้างโดยเบอร์กเนอร์และคณะ แปลเป็นไทยโดยเพ็ญรุ่ง ผลกาญจนากรและสมจิตร พี่งวงศ์สำราญ มีค่าครอนบาคอัลฟ่า .81 และ .79 ใน ช่วงก่อนและหลังการผ่าตัดตามลำดับ ข้อมูลทางคลินิก บันทึกจากรายงานผู้ป่วย ผลการศึกษาพบว่าในช่วงก่อนการผ่าตัดผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตต่ำ ทั้งโดยรวมและรายด้าน คือ ด้านร่างกาย ด้านจิตใจและด้านทั่วไป เมื่อติดตามผู้ป่วยช่วงหลังผ่าตัด 3 เดือนพบว่า ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีความสามารถในการทำหน้าที่ดีขึ้น อาการเจ็บหน้าอกน้อยลง คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นกว่าก่อนผ่าตัดทั้งโดยรวมและรายด้านทั้ง 3 ด้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการวิจัยสามารถใช้เป็นข้อมูลติดตามผลการรักษาในระยะยาว การกำหนดแนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ การวางแผนการจำหน่าย และการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ
ที่มา
รามาธิบดีพยาบาลสาร ปี 2547, January-April ปีที่: 10 ฉบับที่ 1 หน้า 68-80
คำสำคัญ
คุณภาพชีวิต, การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ, การศึกษาติดตาม, ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ, Quality of life, Coronary artery disease, Coronary artery by pass, Follow-up study