การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของวิธีรักษาการติดเชื้อ CMVR ในจอประสาทตาของผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในประเทศไทย
ฉวีวรรณ เย็นจิตร*, กัลยา ตีระวัฒนานนท์, สมสงวน อัษญคุณ, ยศ ตีระวัฒนานนท์, ศนิอร เอี่ยวสกุล
International Health Policy Program
บทคัดย่อ
                การรักษา Cytomegalovirus retinitis (CMVR) มีหลากหลายวิธี ได้แก่ การให้ยาทางเส้นเลือด การกิน การฉีดยาในน้ำวุ้นตา และการผ่าตัดใส่สารสังเคราะห์ที่มียาในน้ำวุ้นตา (IMP) การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินต้นทุน-อรรถประโยชน์ ในส่วนเพิ่ม (incremental cost-effectiveness ratio (ICER)) ของการรักษาแต่ละวิธี เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยใช้แบบจำลองในการวิเคราะห์ ร่วมกับการสำรวจข้อมูลในโรงพยาบาล และการสัมภาษณ์เพิ่มเติม วิเคราะห์ภายใต้ระบบบริการสุขภาพในประเทศไทยโดยวิเคราะห์แบบจำลอง (model-based analysis) ทั้งจากมุมมองด้านผู้ให้บริการด้านสุขภาพ และมุมมองด้านสังคมควบคู่กันไป                การฉีดยา ganciclovir เข้าในน้ำวุ้นตา เป็นวิธีการรักษาที่มีราคาถูกที่สุดและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ขณะเดียวกันการให้ยาฉีดร่วมกับยากิน ก็มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เช่นกัน เพราะค่าความคุ้มค่า (ICER) ของวิธีการให้ยาฉีดร่วมกับยากิน ต่ำกว่าเกณฑ์ที่คณะกรรมการ Millennium Development Goals กำหนดไว้ วิธีให้ยาฉีดร่วมกับยากิน มีความเหมาะสมภายใต้บริบทการรักษา CMVR ในประเทศไทย การผ่าตัดใส่สารสังเคราะห์ที่มียาในน้ำวุ้นตา ไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ การรักษา CMVR ในผู้ติดเชื้อที่เป็นในตาสองข้างมี่ความคุ้มค่ากว่ารักษา CMVR ในตาข้างเดียว เช่นเดียวกับการกินยาต้านไวรัส (ARV) ควบคู่กับการรักษา CMVR จะมีความคุ้มค่าในการรักษามากกว่าการไม่กินยาต้านไวรัส ดังนั้นในการรักษา CMVR ในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย ควรสนับสนุนวิธีการให้ยาทางเส้นเลือดร่วมกับการกินยา
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2550, July-August ปีที่: 16 ฉบับที่ 4 หน้า 522-540
คำสำคัญ
cost-effectiveness, Economic evaluation, Antiretroviral drug, Cytomegalovirus retinitis, Ganciclovir implant