การศึกษาผลการผ่าตัดถุงน้ำดีโดยวิธีส่องกล้องโดยอาศัยการยกผนังหน้าท้องเทียบกับการผ่าตัดโดยอาศัยการใส่ลมเข้าสู่ช่องท้อง
ทวีสิน ตันประยูร
Sompop Limpongsanurak
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลการรักษาผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีโดยการผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้องโดยอาศัยการยกหน้าท้องและวิธีอาศัยการใส่ก๊าซเข้าสู่ช่องท้อง ผลการรักษาที่เปรียบเทียบ คือ 1. อัตราความสำเร็จของการผ่าตัด 2. อัตราการเกิดปัญหาแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด, อุบัติการ ความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ 3. ความเจ็บปวดภายหลังการผ่าตัดบริเวณแผลผ่าตัด และบริเวณหัวไหล่ของผู้ป่วย 4. ค่าใช้จ่ายต่อการผ่าตัดสำเร็จในผู้ป่วยแต่ละรายทั้งในมุมมองของผู้ใช้และผู้รับการรักษา รูปแบบการวิจัย การศึกษาแบบทดลอง โดยการแบ่งกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีสุ่ม Setting: การศึกษาในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ผลการทดลอง ผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดีที่เข้ารับการรักษาในหน่วยศัลยศาสตร์ทั่วไป โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในช่วงระหว่างเดือน ธันวาคม 2540 ภึง กุมภาพันธ์ 2542 รวม 84 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเท่าๆ กัน โดยการสุ่มแบบบล็อก กลุ่มควบคุม ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดโดยอาศัยการส่งกล้องโดยใส่ก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์เข้าสู่ช่องท้อง กลุ่มทดลองได้รับการผ่าตัดโดยการส่องกล้องโดยวิธียกผนังหน้าท้อง ทั้งสองกลุ่มได้รับการรักษาโดยแพทย์กลุ่มเดียวกัน ผลการรักษาพบว่า ลักษณะพื้นฐานของผู้ป่วยทั้งกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองไม่มีความแตกต่างกันทั้งอายุเพศ โรคที่เป็นร่วม ประวัติการผ่าตัดช่องท้องมาก่อน และอาการที่นำผู้ป่วยมารับการรักษา 1. อัตราการผ่าตัดสำเร็จในกลุ่มควบคุม ได้ผลดีกว่าในกลุ่มทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (สำเร็จ 40/42 หรือร้อยละ 95.2 เปรียบเทียบกับ 28/42 คนหรือร้อยละ 66.7, p = 0.001 2. กลุ่มควบคุมใช้เวลาในการผ่าตัดสั้นกว่ากลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (64.6+-24.1 เทียบกับ 104.0+-32.2 นาที, p<0.001) 3. มีอัตราโรคแทรกซ้อนและอัตราการเต้นผิดปกติของหัวใจ เท่ากันทั้ง 2 กลุ่ม 4. ความเจ็บปวดบริเวณแผลผ่าตัดและบริเวณหัวไหล่ ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 5. กลุ่มควบคุมเสียค่าใช้จ่ายต่อการผ่าตัดสำเร็จ 1 ครั้ง น้อยกว่ากลุ่มทดลองทั้งในมุมมองของผู้ป่วย และมุมมองของผู้ให้การบริการ สรุป การผ่าตัดถุงน้ำดีโดยวิธีส่องกล้องโดยใช้การใส่ลมเข้าสู่ช่องท้องให้อัตราการผ่าตัดสำเร็จสูงกว่า ใช้เวลาในการผ่าตัดสั้นกว่าและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการผ่าตัดโดยใช้การยกผนังหน้าท้อง โดยพบอัตราการเกิดผลแทรกซ้อนและความเจ็บปวดไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา
M.Sc. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2546
คำสำคัญ
surgery, Endoscopic, Abdominal, Gallstones, Laparoscopic, wall