การวิเคราะห์เปรียบเทียบต้นทุน-ประสิทธิผล ของการเฝ้าระวังโรคไข้มาลาเรียเชิงรุก ด้วยวิธีการใช้ชุดน้ำยาสำเร็จรูปและฟิล์มโลหิตชนิดหนา ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 18 แม่สอด ปี 2545
ยุทธพงศ์ หมื่นราษฎร์
Thosporn Vimolket
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อคำนวณต้นทุน ประเมินประสิทธิผลและวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลของการเฝ้าระวังโรคไข้มาลาเรียเชิงรุก ด้วยวิธีการใช้ชุดน้ำยาสำเร็จรูปและฟิล์มโลหิตชนิดหนา ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 18 แม่สอด ปี 2545 ในมุมมองของผู้ใช้บริการ โดยเป็นการศึกษาเชิงพรรณนา และเก็บข้อมูลย้อนหลัง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยแบ่งออกเป็น หน่วยงานต้นทุนชั่วคราวและหน่วยงานรับต้นทุน ใช้วิธีการกระจายต้นทุนแบบการกระจายโดยตรงและการกระจายต้นทุนแบบการกระจายตามลำดับขั้น ผลการศึกษาพบว่าต้นทุนรวมทั้งหมดของการดำเนินงานเฝ้าระวังโรงไข้มาลาเรียเชิงรุกด้วยวิธีการใช้ชุดน้ำยาสำเร็จรูปเท่ากับ 2,771,784.77 บาท โดยเป็นต้นทุนทางตรงร้อยละ 87.75 และต้นทุนรวมทั้งหมดของการดำเนินงานเฝ้าระวังโรงไข้มาลาเรียเชิงรุกด้วยฟิล์มโลหิตชนิดหนา เท่ากับ 2,226,032.57 บาท โดยเป็นต้นทุนทางตรงร้อยละ 84.26 ต้นทุนเฉลี่ยต่อตัวอย่างที่ตรวจด้วยชุดน้ำยาสำเร็จรูป เท่ากับ 304.12 บาทต่อราย และต้นทุนเฉลี่ยต่อตัวอย่างที่ตรวจพบเชื้อ เท่ากับ 1,475ฝ92 บาทต่อราย ส่วนต้นทุนเฉลี่ยต่อตัวอย่างที่ตรวจด้วยฟิล์มโลหิตชนิดหนา เท่ากับ 244.24 บาทต่อราย และต้นทุนเฉลี่ยต่อตัวอย่างที่ตรวจพบเชื้อเท่ากับ 816.89 บาทต่อราย สำหรับ ต้นทุน-ประสิทธิผลพบว่าการดำเนินงานเฝ้าระวังโรคไข้มาลาเรียเชิงรุกด้วยฟิล์มโลหิตชนิดหนามีประสิทธิภาพสูงสุด (ต้นทุน-ประสิทธิผล ต่ำสุด) โดยมีต้นทุน-ประสิทธิภาพเท่ากับ 816.89 บาท ส่วนการเฝ้าระวังโรคไข้มาลาเรียเชิงรุกด้วยวิธีการใช้ชุดน้ำยาสำเร็จรูปมีต้นทุน-ประสิทธิผลเท่ากับ 1,475.92 บาท เมื่อวิเคราะห์ความไวของ ต้นทุน-ประสิทธิผล พบว่า ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงของอัตราการตรวจพบเชื้อมาลาเรียจากสถานการณ์ปัจจุบันทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง ของวิธีการตรวจวินิจฉัยทั้ง 2 วิธี ก็ตาม วิธีการตรวจวินิจฉัยด้วยฟิล์มโลหิตชนิดหนาก็ยังคงมีประสิทธิภาพสูงสุดแต่มีแนวโน้มว่าหากอัตราความชุดของเชื้อมาลาเรียิ่งเพิ่มสูงขึ้นก็จะทำให้ประสิทธิภาพของวิธีการตรวจวินิจฉัยทั้งง 2 วิธี ใกล้เคียงกันมากยิ่งขึ้น ผลการวิจัยจากการศึกษานี้ สามารถเป็นข้อมูลพื้นฐานให้ผู้บริหารนำไปประกอบการวางแผนการดำเนินงานเฝ้าระวังโรคไข้มาลาเรียเชิงรุกและบริหารการใช้ทรัพยากร ในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ที่มา
M.Sc. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2545