การศึกษาประสิทธิผลของพรอโพฟอล 20 มิลลิกรัมเปรียบเทียบกับนาลบูฟีน 3 มิลลิกรัมในการระงับอาการคันซึ่งเกิดจากการฉีดมอร์ฟีนเข้าช่องไขสันหลังในผู้ป่วยผ่าตัดคลอดเด็กทางหน้าท้อง
สมรัตน์ จารุลักษณานันท์
อรนุช เกี่ยวข้อง
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของการใช้ยาพรอโพฟอล 20 มิลลิกรัม กับยานาบูฟีน 3 มิลลิกรัม ฉีดเข้าเส้นเลือดในการรักษาอาการคัน ซึ่งเกิดขึ้นจากการฉีดมอร์ฟีนเข้าช่องไขสันหลังในผู้ป่วยผ่าตัดคลอดเด็กทางหน้าท้อง รูปแบบการทดลอง : การทดลองทางคลีนิคแบบสุ่มทดลองโดยมีกลุ่มเปรียบเทียบ สถานที่ทำการวิจัย : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ วิธีการศึกษา : ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดคลอดเด็กทางหน้าท้อง ซึ่งเกิดอาการคันจากการฉีดมอร์ฟีนเข้าชั้นไขสันหลัง 181 คน ได้รับการสุ่มแบ่งกลุ่มด้วยการสุ่มแบบธรรมดาเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้ยา พรอโพฟอล 20 มล. กลุ่มที่ 2 ได้ยานาลบูฟีน 3 มก. ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ประเมินผลการรักษาอาการคันและผลข้างเคียงอื่นๆ ที่ 10 นาที ภายหลังการบริหารยา ผลการศึกษา : การฉีดยานาลบูฟีนได้ผลในอัตราสูงกว่าพรอโพฟอล (83.5% ต่อ 61.1%, P = 0.0008) โดยมีอัตราการเกิดอาการคันซ้ำภายใน 4 ชั่วโมง หลังการรักษาครั้งแรกสำเร็จไม่แตกต่างกัน (นาลบูฟีน 9.2% ขณะที่พรอโพฟอล 7.3%, P = 0.9603) สำหรับอัตราการเกิดอาการข้างเคียงอื่นๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงระดับความเจ็บปวด อาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการง่วงซึม อาการปวดขณะฉีดยาหรืออาการมึนงงหลังการฉีดยาไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุป : นาลบูฟีน 3 มก. ฉีดเข้าหลอดเลือดดำมีประสิทธิผลสูงกว่าพรอโพฟอล 20 มก. ในการรักษาอาการคันซึ่งเกิดจากการฉีดมอร์ฟีนเข้าช่องไขสันหลังในผู้ป่วยผ่าตัดคลอดเด็กทางหน้าท้อง โดยเกิดอาการข้างเคียงในอัตราต่ำและไม่รุนแรง
ที่มา
Master of Science คณะ Health Development จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2542
คำสำคัญ
Intrathecal, Propofol, morphine, Nalbuphine