ประสิทธิผลของเฝือกสบฟันจัดตำแหน่งและเฝือกสบฟันเสถียร ในการรักษาอาการของแผ่นรองข้อต่อขากรรไกรคลื่อนชนิดเข้าที่ได้เอง
พนมพร วานิชชานนท์
มนต์ชัย ชาลาประวรรตน์
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อประเมินประสิทธิผลของเฝือกสบฟันจัดตำแหน่งใส่เฉพาะกลางคืน และเฝือกสบฟันเสถียรในการรักษาอาการ ของแผ่นรองข้อต่อขากรรไกรเคลื่อนชนิดเข้าที่ได้เอง ในระยะเวลา 10 สัปดาห์ รูปแบบการศึกษา : การศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มทดลองโดยมีกลุ่มเปรียบเทียบ สถานที่ทดลอง : คลินิกบัณฑิตศึกษาทันตกรรมบดเคี้ยว คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประชากรที่ศึกษา : ผู้ป่วยที่มีอาการของแผ่นรองข้อต่อขากรรไกรเคลื่อนชนิดเข้าที่ได้เอง ที่เข้าเกณฑ์การศึกษา จำนวน 34 คน ระเบียบวิธีวิจัย : จัดผู้ป่วยทั้ง 34 คนเข้าการศึกษาด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย กลุ่มหนึ่งได้รับเฝือกสบฟันจัดตำแหน่ง อีกกลุ่มได้รับเฝือกสบฟันเสถียร ก่อนการรักษาให้ผู้ป่วยประเมินอาการของตนเองด้วยสเกลวิชวลแอนะล็อก ทั้งอาการปวดข้อต่อขากรรไกรโดยเฉลี่ย และปัญหาการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ขากรรไกร 3 อย่าง ซึ่งภายหลังนำมาเฉลี่ยเป็นคะแนนการใช้ขากรรไกรโดยรวม รวมทั้งตรวจอาการแสดงทางคลินิก ให้ผู้ป่วยใส่เฝือกสบฟันเฉพาะตอนกลางคืน ประเมินผลที่ระยะเวลา 10 สัปดาห์ ด้วยวิธีเดียวกับก่อนการรักษา หากคะแนนอาการปวดโดยเฉลี่ยและคะแนนการใช้ขากรรไกรลดลง เท่ากับหรือมากกว่า 50% จากคะแนนก่อนการรักษา ถือว่าอาการดีขึ้นเด่นชัด ผลการศึกษา : ที่ระยะเวลา 10 สัปดาห์ กลุ่มที่รักษาด้วยเฝือกสบฟันจัดตำแหน่ง มีจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการปวดและปัญหาการใช้ขากรรไกรดีขึ้นเด่นชัด (7 ใน 17 หรือ 41%) มากกว่ากลุ่มที่รักษาด้วยเฝือกสบฟันเสถียร (4 ใน 17 หรือ 23%) แต่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (การทดสอบไค-สแควร์, p=0.271) สรุปการศึกษา : เฝือกสบฟันจัดตำแหน่งใส่เฉพาะกลางคืนมีแนวโน้มให้ผลทางคลินิก ในการรักษาอาการแผ่นรองข้อต่อขากรรไกรเคลื่อนชนิดเข้าที่ได้เอง ดีกว่าเฝือกสบฟันเสถียร แต่ประสิทธิผลของเฝือกสบฟันทั้งสองชนิดไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา
Master of Science คณะ Health Development จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2546
คำสำคัญ
Diseases, joint, Periodontal, Splints, Temporomandibular