การใช้ยาออกซ์คาร์บาซีปีนเป็นยาเสริมในผู้ป่วยลมชักชาวไทยที่มีอาการชักบางส่วนซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยากันชักที่ใช้อยู่
เพทิสรา ไกรปราบ
Mayuree Tantisira
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาออกซคาร์บาซีปีนขนาด 600 และ 1200มก./วัน ในผู้ป่วยโรคลมชักชาวไทยที่มีอาการชักชนิดบางส่วนซึ่งไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ด้วยยากันชักที่ใช้อยู่โดยศึกษาในรูปแบบของการใช้ยาออกซ์คาร์บาซีปีนเป็นยาเสริมร่วมกับยากันชักชนิดอื่นที่ผู้ป่วยใช้อยู่เดิม และเพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับ MHD ซึ่งเป็นเมแทบอไลต์ที่แสดงฤทธิ์ต้านชักของยาออกซคาร์บาซีปีน, กับผลทางการรักษา ผู้ป่วยซึ่งไม่สามารถควบคุมอาการชักชนิดบางส่วนซึ่งรวมถึงอาการชักชนิดบางส่วนที่จะกลายเป็นการชักทั้งตัวในขั้นต่อไปจำนวน 39 คนมีอายุระหว่าง 15-65 ปี ถูกประเมินในการศึกษาแบบสุ่ม, ปิดบังทั้งสองด้าน โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ระยะ คือ : 1) ระยะพื้นฐาน, ศึกษาข้อมูลของการชัก (ชนิดและความถี่) ขณะที่รักษาด้วยยาเดิม (56 วัน); 2) ระยะให้การรักษาแบบปิดบังทั้ง 2 ด้าน, ผู้ป่วยได้รับยาออกซ์คาร์บาซีปีน(ขนาด 600 หรือ 1200มก./ วัน) ร่วมกับยากันชักเดิมที่ได้รับในระยะพื้นฐาน (98 วัน); 3) ระยะเปิดเผยขนาดของยาออกซ์คาร์บาซีปีนที่ผู้ป่วยได้รับ โดยผลการศึกษาจะถูกประเมินถึงสิ้นสุดระยะที่ให้การรักษาแบบปิดบังทั้ง 2 ด้าน ตัวแปรที่แสดงถึงประสิทธิภาพขั้นปฐมภูมิและทุติยภูมิคือ ค่าเฉลี่ยเปอร์เซนต์การเปลี่ยนแปลงความถี่ของการชักภายใน 28 วันเมื่อเทียบกับระยะก่อนใช้ยา และ เปอร์เซนต์ของผู้ที่มีความถี่ของการชักลดลงอย่างน้อย 50%, ตามลำดับ ผลการศึกษาพบว่าค่ามัธยฐานเปอร์เซนต์ความถี่ของการชักที่ลดลงเท่ากับ 47% และ 58% ในกลุ่มของผู้ได้รับยาในขนาด 600 และ 1200มก./ วัน ตามลำดับ, และพบว่าผู้ป่วยที่มีความถี่ของการชักลดลงอย่างน้อย 50% เท่ากับ 44% และ 53% ในกลุ่มที่ได้รับยาขนาด 600 และ 1200 มก./ วัน ตามลำดับ โดยทั้ง2ตัวแปรดังกล่าวไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างผู้ป่วย2กลุ่ม(p>0.05) นอกจากนั้นยังพบว่าค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของระดับ MHD ในพลาสมามีความสัมพันธ์กับขนาดของยาที่ได้รับ(p=0.000) ระหว่างได้รับยาออกซ์คาร์บาซีปีนมีผู้ป่วย 85%และ 84% ในกลุ่ม 600 และ 1200มก./ วันตามลำดับที่รายงานอาการไม่พึงประสงค์อย่างน้อย1ชนิด ซึ่งอาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นชั่วคราวและมีความรุนแรงเล็กน้อยถึงปานกลาง อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยทั่วไป คือ อาการที่มีความสัมพันธ์กับระบบประสาทส่วนกลาง ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่ายาออกซ์คาร์บาซีปีนทั้ง 2ขนาดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในผู้ป่วยโรคลมชักชาวไทยซึ่งไม่สามารถควบคุมการชักได้เมื่อใช้ในรูปแบบของการเป็นยาเสริมร่วมกับยากันชักตัวอื่นและประสิทธิภาพของยามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามขนาดยา
ที่มา
Master of Science in Pharmacy คณะ Pharmacology จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2546
คำสำคัญ
chemotherapy, Epilepsy, Oxcarbazepine, Convulsions