การศึกษาประสิทธิภาพของความร้อนลึกในการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม
วิไล คุปต์นิรัติศัยกุล
Manathip Osiri
บทคัดย่อ
ความเป็นมา : มีการใช้ความร้อนลึกในการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมมานาน แต่ไม่มีการศึกษาที่ดีพอจะยืนยันผลของความร้อนลึก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปแบบการศึกษา วิธีการ หรือการวัดผลอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน วัตถุประสงค์การวิจัย : เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการใช้ความร้อนลึกในการลดอาการปวดของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม รูปแบบวิจัย : Double blind randomized placebo controlled trial วิธีการ : ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมจำนวน 132 ราย ที่มีอาการปวดเข่า จะได้รับการประเมินระดับความปวด และวัดอัตราเร็วในการเดิน ผู้ป่วย 66 รายได้รับการสุ่มเข้ากลุ่มควบคุมซึ่งได้รับการอบความร้อนลึกหลอก อีก 66 ราย เข้ากลุ่มรักษาซึ่งได้รับการอบความร้อนลึกจริง นานครั้งละ 15-20 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ การวัดผล : ความแตกต่างของคะแนน WOMAC, อัตราเร็วในการเดิน, การประเมินผลการรักษาในภาพรวม, และระดับความพึงพอใจระหว่างสองกลุ่ม ผลการวิจัย : ไม่พบค่าความแตกต่างของคะแนน WOMAC ก่อนและหลังรักษา ไม่ว่าจะวิเคราะห์คะแนนรวม หรือวิเคราะห์แยกส่วน (คะแนนปวด,คะแนนความตึงหรือคะแนนความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน) นอกจากนี้การวิเคราะห์แบบกลุ่มย่อยแยกตามค่า WOMAC ก่อนการรักษาก็ได้ผลเช่นเดียวกัน ไม่พบความแตกต่างของอัตราเร็วในการเดิน,การประเมินผลการรักษาในภาพรวม และอุบัติการณ์ของผลข้างเคียงของความร้อนลึกระหว่างสองกลุ่ม แต่กลุ่มศึกษามีความพึงพอใจดีมากกว่ากลุ่มควบคุม (ค่าพี 0.015) นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มศึกษามารับการอบความร้อนลึกอย่างสม่ำเสมอดีมีจำนวนมากกว่า และมีการใช้ยาต้านอักเสบมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพี 0.002, 0.021 ตามลำดับ) ส่วนกลุ่มควบคุมมีจำนวนผู้บริหารกล้ามเนื้อเข่าสม่ำเสมอดีมากกว่า (ค่าพี <0.001) เมื่อนำปัจจัยที่แตกต่างกันในทั้งสองกลุ่มมาเข้าสมการถดถอย (Multiple Linear Regression) คือ กลุ่ม, ระยะเวลาที่เป็นโรค, ความร่วมมือในการมาอบความร้อนลึก, ความร่วมมือในการออกกำลังกล้ามเนื้อเข่า และจำนวนยาต้านอักเสบที่ใช้ พบว่ามีเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้นที่มีผลต่อค่าคะแนนความแตกต่างของ WOMAC คือ ระยะเวลาที่เป็นโรค ภายหลังการปรับด้วยค่าระยะเวลาที่เป็นโรคแล้ว พบว่ากลุ่มศึกษามีผลต่างของคะแนน WOMAC ภายหลังการรักษามากกว่ากลุ่มควบคุม เมื่อเทียบกับคะแนนพื้นฐาน มีค่าเปลี่ยนแปลงประมาณร้อยละ 9 ซึ่งไม่มีความสำคัญทางคลินิก ส่วนผลข้างเคียงของการอบความร้อนลึกไม่รุนแรง และไม่แตกต่างกันทั้งสองกลุ่ม (ร้อยละ 6) สรุป: ไม่มีหลักฐานยืนยันถึงประสิทธิภาพของความร้อนลึกในการลดอาการปวดของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมด้วยโปรแกรมการรักษาแบบนี้ อย่างไรก็ดี น่าจะได้มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของความร้อนลึกด้วยโปรแกรมการรักษาแบบอื่น
ที่มา
Master of Science คณะ Health Development จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2547
คำสำคัญ
Knee, Diseases, Diathermy