การเปรียบเทียบประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาซิมวาสทาทิน 10 มิลลิกรัม ที่ให้ในเวลาเช้ากับเวลาเย็นในผู้ป่วยนอกสูงอายุ
ณัฐติพร สรรพกิจกำจร
วินิจ วินิจวัจนะ
บทคัดย่อ
ยาซิมวาสทาทินเป็นยาที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกติของไขมันในเลือดอย่างแพร่หลาย แต่ยังไม่มีการศึกษาถึงผลของการให้ยานี้ในเวลาที่แตกต่างกันของผู้ป่วยสูงอายุไทย การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผล ความปลอดภัยและความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยนอกสูงอายุที่ใช้ยาซิมวาสทาทินขนาด 10 มิลลิกรัมในเวลาเช้ากับเวลาเย็น การวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกแบบ randomized, open-label, parallel design ได้ดำเนินการที่คลินิกผู้สูงอายุ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยแบ่งผู้ป่วยแบบสุ่มออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 20 คน คือ กลุ่มที่ 1 ใช้ยาในเวลาเช้า (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 ใช้ยาในเวลาเย็น กลุ่มที่ 3 ใช้ยาในเวลาเช้า และกลุ่มที่ 4 ใช้ยาในเวลาเย็น (กลุ่มควบคุม) โดยเก็บข้อมูลที่สัปดาห์ที่ 0 และ 12 ในระหว่างเดือนกันยายน 2547-มีนาคม 2548 ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยทั้งหมด 80 ราย เป็นเพศหญิง 43 ราย และเพศชาย 37 ราย อายุเฉลี่ย 73.7 +- 7.0 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 96.2) ใช้ยาซิมวาสทาทินเพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจระดับปฐมภูมิ เมื่อเริ่มต้นการศึกษาที่สัปดาห์ที่ 0 ลักษณะทั่วไปของผู้ป่วย โรคร่วมและยาอื่นที่ผู้ป่วยใช้ ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ระดับเป้าหมาย LDL-C และระดับไขมันในเลือด (LDL-C และระดับไขมันในเลือด (LDL-C, TC, HCL-C และ TG) ของผู้ป่วยทั้ง 4 กลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05) เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาซิมวาสทาทินที่ให้ในเวลาที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มผู้ป่วยทั้ง 4 กลุ่มที่สัปดาห์ที่ 12 พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งในแง่ของระดับไขมันในเลือดและควบคุมระดับ LDL-C ให้ได้ตามเป้าหมาย แต่ภายในผู้ป่วยแต่ละกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันเฉลี่ย (% mean change) ระหว่างสัปดาห์ที่ 0 และ 12 เพียงเล็กน้อย คือ ระดับ LDL-C, TC, HDL-C และ TG มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วง -6.5% ถึง +3.8%, -4.9% ถึง -0.4% ถึง +5.3% และ -4.5% ถึง +15.6% ตามลำดับ ซึ่งไม่มีนัยสำคัญทางคลินิก ในด้านความปลอดภัยและความร่วมมือในการใช้ยาระหว่างกลุ่มผู้ป่วยที่สัปดาห์ที่ 12 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์และจำนวนครั้งที่ผู้ป่วยลืมรับประทานยาไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p > 0.05) ดังนั้นในผู้ป่วยนอกสูงอายุ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า การให้ยาซิมวาสทาทินขนาด 10 มิลลิกรัมในเวลาเช้าหรือเวลาเย็นมีประสิทธิผล ความปลอดภัยและความร่วมมือในการใช้ยาไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาซิมวาสทาทินในผู้ป่วยกลุ่มอื่นหรือขนาดยาอื่นเพื่อเป็นแนวทางในการให้ยาซิมวาสทาทินที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยต่อไป
ที่มา
เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต คณะ เภสัชกรรมคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2547
คำสำคัญ
ผู้สูงอายุ, การใช้รักษา, ซิมวาสเตติน, โคเลสเตอรอล