การเปรียบเทียบผลของยาแอมมิโอดาโรนกับยาแอมมิโอดาโรนร่วมกับยาดีจ็อกซิน บริหารทางหลอดเลือดดำในการควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ ในผู้ป่วยที่มีหัวใจเต้นผิดจังหวะเอเตรียลฟิบริลเลชั่นชนิดเฉียบพลัน ที่รักษาตัวในหอบริบาลผู้ป่วยวิกฤต
สราวุฒิ ศิวโมกษธรรม
สมชาย ปรีชาวัฒน์
บทคัดย่อ
บทนำ : เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับยาที่ใช้ในการรักษา เพื่อควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจเอเตรียลฟิบริลชั่นชนิดเฉียบพลันในผู้ป่วยวิกฤต ประกอบกับยาแอมมิโอดาโรนหรือยาดีจ็อกซินเพียงอย่างเดียว ยังมีประสิทธิภาพไม่มีเต็มที่นัก จึงมีแนวคิดที่จะใช้ยา 2 ชนิดดังกล่าวร่วมกันซึ่งยังไม่มีข้อมูลศึกษามาก่อน วัตถุประสงค์ : ประเมินประสิทธิภาพของยาแอมมิโอดาโรนร่วมกับยาดีจ็อกซินทางหลอดเลือดดำ เปรียบเทียบกับยาแอมมิโอดาโรนบริหารทางหลอดเลือดดำเพียงอย่างเดียว ในการควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจในผู้ป่วยที่รักษาตัวในหอบริบาลผู้ป่วยวิกฤต ที่มีหัวใจเต้นผิดจังหวะเอเตรียลฟิบริลเลชั่นชนิดเฉียบพลัน รูปแบบการวิจัย : การวิจัยเชิงวิเคราะห์ชนิดมีกลุ่มเปรียบเทียบ จัดแบ่งกลุ่มประชากรแบบสุ่มอย่างง่าย โดยผู้ป่วยและผู้วิจัยทราบว่าใช้ยาชนิดใด ระเบียบวิธีวิจัย : ผู้ป่วยภาวะวิกฤตที่เกิดเอเตรียลฟิบริลเลชั่นชนิดเฉียบพลันจำนวน 42 ราย ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที โดยกลุ่มที่ 1 ได้รับ ยาแอมมิโอดาโรน ทางหลอดเลือดดำ (5 ม.ก. ต่อ ก.ก. เป็นเวลา 30 นาที ต่อด้วย 1 ม.ก. ต่อนาทีเป็นเวลา 6 ชม. ต่อด้วย 0.5 ม.ก. ต่อนาที) กลุ่มที่ 2 ได้รับยาแอมมิโอดาโรน ขนาดเดียวกันร่วมกับยาดีจ็อกซินทางหลอดเลือดดำ (0.25 ม.ก. ทุก 2 ชม. รวม 0.75 ม.ก.) เปรียบเทีบค่าเฉลี่ยอัตราการเต้นของหัวใจหลังได้รับยา 8 ชม. และเฝ้าสังเกตอาการไม่พึงประสงค์ ผลการวิจัย : ที่เวลา 8 ชม. กลุ่มที่ได้รับยาแอมมิโอดาโรนอย่างเดียว และยาแอมมิโอดาโรนร่วมกับยาดีจ็อกซิน มีประสิทธิภาพในการลดอัตราการเต้นของหัวใจด้วยกันทั้ง 2 กลุ่มจาก 134+-21.7 ครั้งต่อนาทีมาเหลือ 95.4+-26.6 ครั้งต่อนาที (p<0.001) และ 140+-16.2 ครั้งต่อนาทีมาเหลือ 91.5+-25.4 ครั้งต่อนาที (p<0.001) ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่าง 2 กลุ่ม พบว่ากลุ่มที่ได้รับยาร่วมกัน สามารถลดอัตราการเต้นของหัวใจได้มากกว่าอีกกลุ่มเล็กน้อย แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.64) พบอาการไม่พึงประสงค์ ชนิดความดันโลหิตต่ำชั่วขณะ และหลอดเลือดอักเสบเท่ากันทั้ง 2 กลุ่ม (5 และ 1 ราย ตามลำดับ) แต่พบ bradyarrhythmia จำนวน 4 ราย เฉพาะผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 เท่านั้น (1 รายเกิด complete heart block) แต่ไม่พบอาการข้างเคียงที่ร้ายแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต สรุป : ประสิทธิภาพของยาแอมมิโอดาโรนร่วมกับยาดีจ็อกซิน ในการควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจเทียบกับ ยาแอมมิโอดาโรน บริหารทางหลอดเลือดดำไม่แตกต่างกัน แต่เพิ่มโอกาสของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์
ที่มา
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต คณะ อายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2547
คำสำคัญ
ดีจ็อกซิน, อัตราการเต้นของหัวใจ, เอเตรียลฟิบริลเลชัน, แอมมิโอดาโรน