การศึกษาการรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อคริปโตคอคคัสในผู้ป่วยเอชไอวีด้วยยาแอมโฟเทอริซินบีแบบให้ยาวันเว้นวันกับให้ยาทุกวัน
มาลี เตชพรรุ่ง
ชุษณา สวนกระต่าย
บทคัดย่อ
การศึกษาในสัตว์และการศึกษาที่มีจำกัดในทางคลินิกแสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพของยาแอมโฟเทอริซินบีขึ้นกับขนาดยาและยามีค่าครึ่งชีวิตที่ยาว ซึ่งเป็นเหตุผลในการศึกษาครั้งนี้เพื่อเปรียบเทียบการให้ยาแบบทุกวันกับแบบวันเว้นวันของยาแอมโฟเทอริซินบีในการรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อคริปโตคอคคัส วิธีการ การศึกษาแบบสุ่มเพื่อเปรียบเทียบการรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อคริปโตคอคคัส ด้วยยาแอมโฟเทอริซินบีขนาด 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง ทุกวันกับขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง วันเว้นวัน ในผู้ป่วยเอชไอวีในระยะแรกของการรักษา ซึ่งทำการรักษาในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในช่วงเดือนธันวาคม 2546 ถึงเดือนธันวาคม 2547 ผลการศึกษา ผู้ป่วย 28 ราย ได้รับการรักษาแบบให้ยาทุกวัน 15 ราย ค่าเฉลี่ยของยาแต่ละวันเท่ากับ 1.11 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และแบบให้ยาวันเว้นวัน 13 ราย ค่าเฉลี่ยของยาแต่ละวันเท่ากับ 1.0 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ค่าพื้นฐานของครีเอตินินคือ 0.67 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และ 0.65 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ตามลำดับ หลังได้รับการรักษาครบ 2 สัปดาห์ ไม่พบความแตกต่างของการทำงานของไตอย่างชัดเจนในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม โดยมีค่าเฉลี่ยครีเอตินิน 1.10 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และ 1.15 มิลลิกรัมต่อเดชิลิตร ตามลำดับ นอกจากนี้ไม่พบว่ามีความแตกต่างในเรื่องผลข้างเคียงที่สัมพันธ์กับการให้ยา การตอบสนองทางคลินิกและทางด้านเชื้อรา ผู้ป่วย 1 ราย ในกลุ่มที่ได้รับยาแบบทุกวัน ได้รับการรักษาด้วยการใส่สายระบายแบบต่อเนื่อง เนื่องจากไม่สามารถควบคุมความดันสมองที่สูง ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตในระหว่างการศึกษา อัตราการปราศจากเชื้อของน้ำไขสันหลังระหว่าง 2 กลุ่ม ไม่แตกต่างกันทางสถิติ (p = 0.3) โดยพบในผู้ป่วย 3 ราย จาก 9 ราย ในกลุ่มที่ได้ยาแบบทุกวัน (ร้อยละ 33) และพบในผู้ป่วย 1 รายจาก 10 ราย ในกลุ่มที่ได้ยาแบบวันเว้นวัน (ร้อยละ 10) สรุป การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบสุ่มลำดับแรก เพื่อเปรียบเทียบการรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อคริปโตคอคคัสในผู้ป่วยอชไอวีในช่วงสองสัปดาห์แรก ด้วยการให้แอมโฟเทอริซินบีแบบทุกวันกับแบบวันเว้นวัน โดยไม่พบความแตกต่างในเรื่องพิษต่อไต ผลข้างเคียงที่สัมพันธ์กับการให้ยาและประสิทธิภาพในการรักษาระหว่างผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม
ที่มา
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต คณะ อายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2547
คำสำคัญ
การรักษาด้วยยา, บี, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, แอมโฟเทอริซิน