การศึกษาเปรียบเทียบการให้ยาซาลบูทามอลทางเอ็มดีไอร่วมกับสเปซเซอร์และทางเจ็ทเนบูไลเซอร์ในผู้ป่วยเด็กเล็กที่หายใจมีเสียงหวีด
วิภารัตน์ มนุญากร
จิตลัดดา ดีโรจนวงศ์
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงของการให้ยา salbutamol ทาง MDIspacer และทาง jet nebulizer ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่หายใจมีเสียงหวีด รูปแบบการวิจัย การวิจัยแบบทดลอง สถานที่ศึกษา หอผู้ป่วยในฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ประชากร ผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ปีที่มาด้วย acute wheezing และรับไว้ในหอผู้ป่วยใน ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2545 ถึง 10 มีนาคม 2546 วิธีการศึกษา ผู้ป่วยเด็กที่ศึกษาจะได้รับการตรวจร่างกาย บันทึกค่า clinical score และตรวจสมรรถภาพปอดดัวยวิธี tidal breathing เป็น pre bronchodilator test แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 (กลุ่ม jet nebulizer) จะได้รับยา placebo ทาง MDI-spacer 2 puffs ตามด้วยยา salbutamol (0.5%VentolinR respiratory solution) 0.15 mg/kg ผ่านทาง jet nebulizer กลุ่มที่ 2 (กลุ่ม MDI-spacer)ได้รับ salbutamol ทาง MDIspacer 2 puffs ตามด้วย placebo ทาง jet nebulizer จากนั้นทำการตรวจสมรรถภาพปอดเป็น post bronchodilator test และบันทึก clinical score หลังให้ยา เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของผลการตรวจสมรรถภาพปอดก่อนและหลังได้รับยา โดยดูจากค่า parameter ต่างๆที่วัดได้จาก flowvolume loop (%VF, Tp/Te, 25/PF), ค่า Crs (compliance) และ Rrs (resistance) รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของ clinical score,อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจและ oxygen saturation ก่อนและหลังได้รับยา และเปรียบเทียบร้อยละของการเปลี่ยนแปลงระหว่างกลุ่มโดย Mann-Whitney U Test ผลการศึกษา ผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีที่หายใจมีเสียงหวีด จำนวน 34 รายได้รับการตรวจสมรรถภาพปอดก่อนและหลังให้ยา salbutamol ทาง jet nebulizer และทาง MDI-spacer พบว่าร้อยละของการเปลี่ยนแปลงของค่า Crs/kg, Rrs, %VF, Tp/Te, 25/PF และค่า clinical score ของทั้งสองกลุ่มไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value>0.05) และพบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยา salbutamol ทาง jet nebulizer มีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นหลังพ่นยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value =0.002) บทสรุป การให้ยา salbutamol ทาง jet nebulizer และทาง MDI-spacer ให้ผลการรักษาไม่แตกต่างกันทั้งในด้านของการเปลี่ยนแปลงสมรรถภาพปอด และ ค่า clinical score และการให้ยา salbutamol ทาง jet nebulizer ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นหลังได้ยามากกว่าการให้ยาทาง MDI-spacer
ที่มา
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต คณะ กุมารเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2545
คำสำคัญ
ยา, การรักษาด้วยละอองลอย, ซัลบูตามอล, ผลข้างเคียง