ประสิทธิภาพของยาเพ็นท็อกซิฟิลลีน เทียบกับยาหลอกในการรักษาผู้ป่วยโรคพรูริติค พับพูล่าร์อีรับชั่น ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
กมลรัตน์ ตั้งกิจงามวงศ์
วิวัฒน์ ก่อกิจ
บทคัดย่อ
พรูริติค พับพูล่าร์ อีรับชั่น เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยติดเชื้อ เอช ไอ วี มีการดำเนินโรคเรื้อรังทำให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรง และยังไม่มีวิธีรักษาที่ได้ผลดีนัก การวิจัยนี้ศึกษาประสิทธิภาพของยาเพ็นท็อกซิฟิลลีน เปรียบเทียบกับยาหลอกในการรักษาโรคพรูริติค พับพูล่าร์ อีรับชั่น ในผู้ป่วยจำนวน 40 ราย ใช้วิธีการศึกษาแบบ randomized double-blinded placebo controlled trial ผู้ป่วย 20 ราย ได้รับยาเพ็นท็อกซิฟิลลีน และผู้ป่วย 20 ราย ได้รับยาหลอก ผู้ป่วยรับประทานยาเพ็นท็อกซิฟิลลีน วันละ 1,200 มก. (เม็ดละ 400 มก. ครั้ง 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง) ติดต่อกันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ นัดผู้ป่วยเพื่อติดตามผลการรักษาในสัปดาห์ที่ 2, 4, 8, 12 และ 16 ตาลำดับ โดยดูจากการเปลี่ยนแปลงจำนวนรอยโรค, อาการคัน และภาพถ่าย ผลการรักษาพบว่าที่ 12 สัปดาห์ ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม มีการเปลี่ยนแปลงของจำนวนรอยโรคและอาการคันรวมทั้งภาพถ่ายดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) เมื่อครบ 16 สัปดาห์ พบว่า ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม ยังคงมีจำนวนรอยโรคและอาการคันลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) เช่นเดิม แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วย 2 กลุ่มทั้งเรื่องการลดลงของจำนวนรอยโรคและอาการคัน และการดีขึ้นของภาพถ่าย พบว่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ในการติดตามผลข้างเคียงของการรักษา พบว่าในกลุ่มที่ได้รับยาเพ็นท็อกซิฟิลลีน 2 ราย มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน โดย 1 ราย มีอาการมากจนจำเป็นต้องออกจากการศึกษา 1 ราย มีอาการนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย และ 1 ราย เกิดผื่นแพ้ยา ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีคนไข้ 1 ราย เกิดผื่นแพ้ยา จากการศึกษาครั้งนี้ สรุปได้ว่า การรับประทานยาเพ็นท็อกซิฟิลลีนติดต่อกันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ให้ผลการรักษาโรคพรูริติค พับพูล่าร์ อีรับชั่น ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยยาหลอก (P<0.05)
ที่มา
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต คณะ อายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2542
คำสำคัญ
การติดเชื้อเอชไอวี, พรูริติคพับพูล่าร์อีรับชัน, ยาหลอก, เพนท็อกซิฟิลลีน