ผลของการฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขาด้วยวิธีการอย่างง่าย ในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม
ชฎิล สมรภูมิ
อารีรัตน์ สุพุทธิธาดา
บทคัดย่อ
ศึกษาผลการฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขาด้วยวิธีการอย่างง่าย ในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมแบบปฐมภูมิในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยจำนวน 42 ราย อายุเฉลี่ย 61 ปี สุ่มตัวอย่างแบบง่ายโดยใช้วิธีตารางเลขสุ่มแบ่งกลุ่มผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับการฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขาด้วยวิธีการอย่างง่าย โดยการค่อยๆ เพิ่มแรงต้านของน้ำหนักที่ยกตามความแข็งแรง ของกล้ามเนื้อต้นขาที่เพิ่มขึ้น ในช่วงองศาการเคลื่อนไหว 30-0 องศาของการเหยียดข้อเข่า ฝึกที่ฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และฝึกต่อที่บ้านอีก 2 สัปดาห์ กลุ่มที่ 2 ได้รับการแนะนำการออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขาที่บ้าน โดยไม่ใช้แรงต้านในช่วงองศาการเคลื่อนไหว 90-0 องศาของการเหยียดข้อเข่า เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ซึ่งทั้งสองกลุ่มได้รับการรักษาทางกายภาพบำบัดเหมือนกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ วัดค่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาด้วย Isokinetic dynamometer (Cybex II dynamometer 6000) อาการปวดข้อเข่าและประสิทธิภาพในการทำกิจวัตรประจำวัน วัดด้วยแบบสอบถาม Modified WOMAC scale ก่อนการวิจัย ระหว่างการวิจัยทุกสัปดาห์และเมื่อสิ้นสุดการวิจัยที่ 4 สัปดาห์ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า เมื่อสิ้นสุดการวิจัยที่ 4 สัปดาห์ กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขา ด้วยวิธีการอย่างง่าย (กลุ่มทดลอง) และกลุ่มที่ได้รับการแนะนำ การฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขาที่บ้าน (กลุ่มควบคุม) ไม่มีความแตกต่างกันของความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาข้างขวา (p=0.917) และข้างซ้าย (p=0667) อาการปวดข้อเข่าขวา (p=0.381) และข้อเข่าซ้าย (p=0.406) และประสิทธิภาพในการทำกิจวัตรประจำวันขาข้างขวา (p=0.692) และขาข้างซ้าย (p=0.816) เมื่อเปรียบเทียบผลทุกๆ สัปดาห์ของการฝึก พบว่าเมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่สองของการฝึก ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขา เมื่อเทียบกับก่อนฝึกมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) คือ ค่าเฉลี่ยความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาข้างซ้ายในกลุ่มทดลอง ที่วัดด้วยวิธี Isokinetic 60 องศาต่อวินาที ก่อนการฝึกเท่ากับ 21.70 Nm/kg เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่สองเท่ากับ 34.50 Nm/kg และขาข้างขวาก่อนการฝึกเท่ากับ 17.75 Nm/kg เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่สองเท่ากับ 33.30 Nm/kg ในกลุ่มควบคุมค่าเฉลี่ยความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาข้างซ้าย ที่วัดด้วยวิธี Isokinetic 60 องศาต่อวินาที ก่อนการฝึกเท่ากับ 23.54 Nm/kg เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่สองเท่ากับ 36.77 Nm/kg และขาข้างขวาก่อนการฝึกเท่ากับ 19.77 Nm/kg เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่สองเท่ากับ 34.59 Nm/kg อาการปวดข้อเข่าลดลงและประสิทธิภาพในการทำกิจวัตรประจำวันดีขึ้น เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์แรกของการฝึกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( p < 0.01) คือ คะแนนเฉลี่ยที่ได้จากแบบสอบถาม Modified WOMAC scale เพื่อประเมินอาการปวดข้อเข่าซ้ายในกลุ่มทดลองก่อนการฝึกเท่ากับ 7.40 คะแนน เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์แรกเท่ากับ 5.40 คะแนน และข้อเข่าขวาก่อนการฝึกเท่ากับ 6.85คะแนน เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์แรกเท่ากับ 5.10 คะแนน อาการปวดข้อเข่าซ้ายในกลุ่มควบคุมก่อนการฝึกเท่ากับ 8.63 คะแนน เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์แรกเท่ากับ 5.18 คะแนน และข้อเข่าขวาก่อนการฝึกเท่ากับ 8.77 คะแนน เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์แรกเท่ากับ 5.31 คะแนน และคะแนนเฉลี่ยที่ได้จากแบบสอบถาม Modified WOMAC scale เพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำกิจวัตรประจำวันขาซ้ายในกลุ่มทดลองก่อนการฝึกเท่ากับ 24.55 คะแนน เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์แรกเท่ากับ 14.25 คะแนน และขาขวาก่อนการฝึกเท่ากับ 24.50 คะแนน เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์แรกเท่ากับ 13.95 คะแนน ประสิทธิภาพการทำกิจวัตรประจำวันขาซ้ายในกลุ่มควบคุมก่อนการฝึกเท่ากับ 33.18 คะแนน เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์แรกเท่ากับ 20.00 คะแนน และขาขวาก่อนการฝึกเท่ากับ 33.50 คะแนน เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์แรกเท่ากับ 20.04 คะแนนผลการวิจัยครั้งนี้สรุปว่า การออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมแบบปฐมภูมิในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางมีผลช่วยลดอาการปวดข้อเข่า และประสิทธิภาพในการทำกิจวัตรประจำวันดีขึ้นตั้งแต่สัปดาห์แรกของการฝึก และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาเพิ่มขึ้นตั้งแต่สิ้นสุดสัปดาห์ที่สองของการฝึก โดยไม่มีความแตกต่างกันทั้งความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขา อาการปวดข้อเข่าและประสิทธิภาพในการทำกิจวัตรประจำวันจากวิธีการฝึกที่ต่างกันสองวิธีนี้
ที่มา
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต คณะ เวชศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2543
คำสำคัญ
ข้อเข่า, กระดูกและข้ออักเสบ, กล้ามเนื้อ, การฝึกกำลังกล้ามเนื้อ, ข้อเข่าเสื่อม, โคนขา