การสนับสนุนทางสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังการปลูกถ่ายไต
ทิพาพร ตังอำนวย, ลิวมิง*, วันเพ็ญ เอี่ยมจ้อย
Faculty of Nursing, Xian Midical University, Xian, P.R.China
บทคัดย่อ
การศึกษาเชิงพรรณนานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสนับสนุนทางสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายไตและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้งสอง กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนดเป็นผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายไต ซึ่งมาตรวจตามนัด ที่แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งหนึ่ง จำนวน 60 ราย คุณลักษณะส่วนบุคคลของกลุ่มตัวอย่างวัดโดยใช้แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล การสนับสนุนทางสังคมวัดโดยใช้แบบสอบถามทรัพยากรส่วนบุคคลของเยี่ยน (Yan, 1997) ที่ดัดแปลงจาก PRQ-85 Part 2 ของ ไวเนิร์ทและแบรนท์ (Weinert & Brandt, 1987) คุณภาพชีวิตวัดโดยใช้แบบสอบถามคุณภาพชีวิตผู้ป่วยผ่าตัดปลูกถ่ายไตของเฟอแรนส์ และเพาเวอร์ (Ferrans & Powers, 1985) ตรวจสอบความเชื่อมั่นของเครื่องมือทั้งสองในผู้ป่วยที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 10 ราย ด้วยวิธีสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาค ได้ค่าเท่ากับ .87 และ .84 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน                ผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า ผู้ป่วยผ่าตัดปลูกถ่ายไตรับรู้การสนับสนุนทางสังคมและคุณภาพชีวิต ที่ระดับปานกลางจนถึงระดับสูง และพบความสัมพันธ์ทางบวกระหว่างการสนับสนุนทางสังคมกับคุณภาพชีวิต (r = .57, p< .01) นอกจากนี้พบว่าการสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตแต่ละด้านในระดับปานกลาง
ที่มา
พยาบาลสาร ปี 2542, October-December ปีที่: 26 ฉบับที่ 4 หน้า
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, renal transplant, Social support, การสนับสนุนทางสังคม, ผู้ป่วยหลังการปลูกถ่ายไต