ฤทธิ์ขับปัสสาวะของชากระเจี๊ยบผสมหญ้าหวานเทียบกับยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
ศศิธร แสงเนตร, ธิติมา วัฒนวิจิตรกุล*, สมเกียรติ แสงวัฒนา
ภาควิชาเภสัชกรรมปฏบัติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบฤทธิ์ขับปัสสาวะของชากระเจี๊ยบผสมหญ้าหวานกับยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide; HCTZ) ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบข้ามกลุ่มการรักษาเชิงสุ่ม และไม่ปกปิดการรักษาทั้งสองข้างในผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูงจำนวน 22 คน แบ่งกลุ่มการรักษาด้วยการสุ่มแบบปกปิด โดยให้ชากระเจี๊ยบผสมหญ้าหวาน (ซองละ 2/0.2 กรัม) 2 ซอง/วัน หรือยา HCTZ  25 มก. วันละ 1 ครั้ง นาน 30 วัน จากนั้นหยุดให้การรักษา 7 วัน แล้วสลับการรักษาในแต่ละกลุ่มต่ออีก 30 วัน มีการเก็บตัวอย่างเลือด เก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง วัดค่าความดันโลหิตที่บ้าน เป็นค่าเริ่มต้นและหลังการให้การรักษา ประเมินฤทธิ์ขับปัสสาวะจากปริมาณโซเดียมที่ขับออกทางปัสสาวะและปริมาตรปัสสาวะที่เปลี่ยนแปลงไป ผลการศึกษา: หลังได้รับชากระเจี๊ยบผสมหญ้าหวานและ HCTZ นาน 30 วัน พบการเปลี่ยนแปลงของปริมาณเกลือโซเดียมที่ขับออกทางปัสสาวะภายใน 24 ชั่วโมง (-5.4±92.5 และ-21.3±100.2 มิลลิโมล/วัน; n=22) และปริมาตรปัสสาวะ (-101.4±684.8 และ -40.5±806.4 มล.; n=22) ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) เมื่อเทียบกับค่าเริ่มต้น ตามลำดับ ระดับกลูโคสในเลือดเพิ่มขึ้น โพแทสเซียมและคลอไรด์ในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) หลังได้รับ HCTZ  แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหลังดื่มชากระเจี๊ยบและหญ้าหวาน ไม่มีผู้ป่วยออกจากการศึกษาเนื่องจากอาการไม่พึงประสงค์จากการรักษาตลอดงานวิจัยครั้งนี้  สรุป: การดื่มชากระเจี๊ยบผสมหญ้าหวานขับเกลือโซเดียมและขับปัสสาวะได้ไม่ต่างจากยา HCTZ  ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูง และไม่พบผลการขับปัสสาวะจากการรักษาทั้งสองชนิดหลังให้นาน 30 วัน 
 
ที่มา
ไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ (ศรีนครินทรวิโรฒเภสัชสาร) ปี 2554, October-December ปีที่: 6 ฉบับที่ 4 หน้า 265-273
คำสำคัญ
Diabetes, hypertension, เบาหวาน, Diuretic, ความดันโลหิตสูง, Roselle, Stevia, hydrochlorothiazide, กระเจี๊ยบ, หญ้าหวาน, ยาขับปัสสาวะ, ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์