ประสิทธิผลของการนวดน้ำมันลังกาสุกะด้วยตนเองเพื่อบำบัดอาการปวดกล้ามเนื้อต้นคอ บ่าในผู้ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรม
แวฮาลีเม๊าะ หะยีเจ๊ะเต๊ะ*, หทัยทิพย์ ธรรมะวิริยะกุล
โรงพยาบาลโคกโพธิ์ ตำบลมะกรูด อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี 94120
บทคัดย่อ
บทนำและวัตถุประสงค์: อาการปวดกล้ามเนื้อต้นคอ บ่าในผู้ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรมส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน การวิจัยนี้ศึกษาผลของการนวดน้ำมันลังกาสุกะด้วยตนเองเพื่อบำบัดอาการปวดกล้ามเนื้อต้นคอ บ่าในผู้ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรม ผลที่ได้จะเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรม
วิธีการศึกษา:  การศึกษาเชิงทดลองโดยการสุ่มเปรียบเทียบแบบปกปิดทั้ง 2 ทาง (double-blinded, randomized controlled trial) ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อต้นคอ บ่าโรคออฟฟิศซินโดรม ที่มีอายุ 18-45 ปี ในคลินิกแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลโคกโพธิ์ จำนวน 60  คน โดยกลุ่มทดลองได้รับน้ำมันลังกาสุกะและกลุ่มควบคุมได้รับยาหลอกซึ่งเป็นน้ำมันที่ไม่มีสมุนไพร ทั้ง 2  กลุ่มจะได้รับน้ำมันขนาด 60 มิลลิลิตร สำหรับนวดบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอ บ่า วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 7 วัน ประเมินระดับอาการปวดกล้ามเนื้อด้วย Visual analog scale และองศาการเคลื่อนไหวคอ 6 ทิศทาง ความพึงพอใจและอาการไม่พึงประสงค์ เปรียบเทียบผลการรักษาระหว่างกลุ่มด้วย independent samples t-test ที่นัยสำคัญทางสถิติ p < 0.05
ผลการศึกษา:  ระดับความปวดและองศาการเคลื่่อนไหวคอจากการนวดตนเองของกลุ่มที่ได้รับน้ำมันลังกาสุกะและยาหลอกในการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อต้นคอ บ่า ก่อนและหลัง แตกต่างกันอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ (p < 0.001) โดยกลุ่มทดลองมีระดับอาการปวดเฉลี่ยก่อนทดลอง 6.33 ± 1.26 หลังทดลอง 2.70 ± 0.79 ดังนั้น ส่วนต่างระดับอาการปวดเฉลี่ยหลังการทดลองของกลุ่มทดลองเท่ากับ 3.63 ± 0.96 ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีระดับอาการปวดเฉลี่ยก่อนทดลอง 5.90 ± 1.26 หลังทดลอง 3.83 ± 1.20 ดังนั้น ส่วนต่างระดับอาการปวดเฉลี่ยหลังการทดลองของกลุ่มทดลองเท่ากับ 2.09 ± 1.59 จึงสรุปได้ว่า ระดับอาการปวดเฉลี่ยของกลุ่มทดลองดีขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) และองศาการเคลื่อนไหวคอทั้ง 6 ท่า เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ความพึงพอใจในภาพรวมของทั้ง 2 กลุ่มอยู่ในระดับมาก อย่างไรก็ตาม พบอาการไม่พึงประสงค์ในกลุ่มทดลองจำนวน 1 คน ที่มีอาการวิงเวียนศีรษะและกลุ่มควบคุมมีผิวหนังเป็นรอยแดง จำนวน 1 คน และผื่นคัน จำนวน 1 คน
อภิปรายผล:  การนวดตนเองด้วยน้ำมันลังกาสุกะสามารถลดระดับอาการปวดและเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของคอ 6 ทิศทาง ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (< 0.001) เนื่องจากการนวดด้วยตนเองจะไม่ออกแรงหนักเกินไป  สามารถลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้รู้สึกสบายตัวและเพิ่มความผ่อนคลายได้ ยิ่งการนำน้ำมันที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการลดอาการอักเสบมาร่วมด้วย ยิ่งส่งเสริมให้การนวดนั้น มีผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้น

 
 
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2567, May-August ปีที่: 22 ฉบับที่ 2 หน้า 265-277
คำสำคัญ
Lankasuka oil, self-massage, neck and shoulder muscle pain, office syndrome, น้ำมันลังกาสุกะ, นวดตนเอง, อาการปวดกล้ามเนื้อต้นคอ บ่า, ออฟฟิศซินโดรม