การศึกษาเปรียบเทียบผลเฉียบพลันของการรักษาระหว่างโปรแกรมการนวดกดจุดและการฝังเข็มในผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดที่บริเวณกล้ามเนื้อทราพีเซียสตอนบน
ศิรประภา วีรพัฒนานนท์, วิศรุต บุตรากาศ*, พัฒนสิน อารีอุดมวงศ์, สุจิตรา กล้วยหอมทอง, เพชรรัตน์ แก้วดวงดี, วชิราภรณ์ ผดุงเกียรติวงษ์สาขาวิชากายภาพบำบัด สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
บทคัดย่อ
บทนำและวัตถุประสงค์: กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดเป็นกลุ่มอาการทางระบบโครงสร้างและกล้ามเนื้อที่มักจะเกิดขึ้นได้บ่อยที่บริเวณคอและบ่า และมักจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในกลุ่มดังกล่าว การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของการรักษาด้วยการนวดกดจุดและการฝังเข็มในผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดที่กล้ามเนื้อบ่า (upper trapezius muscle)
วิธีการศึกษา: ในผู้เข้าร่วมการวิจัยจำนวน 34 ราย สุ่มเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งได้รับการรักษาด้วยการนวดกดจุด (ischemic compression combined with deep transverse friction massage) และกลุ่มที่สองได้รับการฝังเข็ม ทั้งสองกลุ่มจะได้รับการรักษาดังกล่าว จำนวน 1 ครั้ง ตัวแปรที่ศึกษาคือ ระดับความรุนแรงของอาการปวด ระดับความตึงตัวของกล้ามเนื้อ องศาการเคลื่อนไหวของการก้มคอ และความวิตกกังวล ซึ่งจะวัดก่อนการรักษาและหลังการรักษาทันที
ผลการศึกษา: ผลการศึกษาพบว่า เมื่อเปรียบเทียบภายในกลุ่ม ผู้เข้าร่วมวิจัยที่ได้รับการรักษาด้วยการนวดกดจุดและฝังเข็มมีค่าระดับอาการปวดและความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) อย่างไรก็ตาม เฉพาะโปรแกรมการนวดกดจุดสามารถลดความวิตกกังวลได้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม พบว่า ทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทุกตัวแปร
อภิปรายผล: การรักษาด้วยการนวดกดจุดและการฝังเข็มมีประสิทธิผลเทียบเท่ากันในการลดอาการปวด และความตึงตัวของกล้ามเนื้อ แต่เฉพาะการนวดกดจุดที่ลดความวิตกกังวลได้ อย่างไรก็ตาม การศึกษาในครั้งนี้มีการประเมินประสิทธิผลการรักษาเฉพาะผลแบบเฉียบพลันเท่านั้น ซึ่งผลที่ได้อาจจะไม่สอดคล้องกับผลระยะยาว ดังนั้น ในการศึกษาครั้งถัดไป การประเมินผลการรักษาแบบระยะยาวจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ
ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ: การนวดกดจุดสามารถลดอาการปวด ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และความวิตกกังวลได้ทันทีหลังการรักษา ในส่วนของการฝังเข็มมีความสัมพันธ์กับการลดลงของระดับความปวดและความตึงตัวของกล้ามเนื้อในผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดที่กล้ามบ่า ดังนั้น การนวดกดจุดและการฝังเข็มอาจถูกพิจารณาให้เป็นหนึ่งในเทคนิคการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยดังกล่าวนี้
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2567, September-December
ปีที่: 22 ฉบับที่ 3 หน้า 525-538
คำสำคัญ
Myofascial pain syndrome, กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด, การกดจุด, ischemic compression, Chinese acupuncture, การฝังเข็มทางการแพทย์แผนจีน