ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของการขาดงานและด้อยประสิทธิภาพการทำงานจากการบริโภคแอลกอฮอล์
กรรณิการ์ ฐิติบุญสุวรรณ*, จอมขวัญ โยธาสมุทร, ชนิดา เลิศพิทักษ์พงศ์, มนทรัตน์ ถาวรเจริญทรัพย์, ยศ ตีระวัฒนานนท์, อุษา ฉายเกล็ดแก้ว
Program of Assessment on Technology and Health Policy, Ministry of Public Health
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินต้นทุนทางเศรษฐกิจจากการขาดงานและการสูญเสียประสิทธิภาพขณะทำงานจากการบริโภคแอลกอฮอล์ใน พ.ศ.2550 โดยทำการสำรวจแบบภาคตัดขวางในประชากรไทยอายุ 15-60 ปีที่มีงานทำในรอบ 7 วันก่อนการสำรวจ จาก 4,330 ครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างของการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือนกรกฎาคม 2550 เปรียบเทียบผลิตภาพในการทำงานโดยรวมที่ลดลงในผู้ดื่มประเภทต่างๆ โดยใช้สถิติ kruskal Wallis วิเคราะห์แต่ละปัจจัยและใช้แบบจำลองเส้นตรงแบบทั่วไปในการวิเคราะห์หลายปัจจัยพร้อมกัน จากนั้นนำผลต่างของประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลงของผู้ดื่มในแต่ละประเภทเทียบกับผู้ไม่ดื่มคูณด้วยรายได้ต่อปี อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานและจำนวนประชากรในประเภทการดื่มนั้นๆ เพื่อประเมินต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น                จากการวิเคราะห์ทีละตัวแปรพบว่าผู้ที่เคยดื่ม ดื่มบ้างและดื่มอย่างอันตรายมาก มีผลิตภาพในการทำงานโดยรวมลดมากกว่าผู้ไม่ดื่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 5.6, 1.7 และ 5.7 ตามลำดับ) ก่อให้เกิดความสูญเสียเป็นมูลค่าถึง 26,700 – 45,464 ล้านบาท ด้วยการคำนวณภายใต้ภาวะคงที่โดยใช้ผลจากการวิเคราะห์ทีละปัจจัยและด้วยการคำนวณตามแบบจำลองความน่าจะเป็น โดยใช้ผลจากการวิเคราะห์หลายปัจจัยพร้อมกัน                การบริโภคแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งจากการขาดงานและการสูญเสียประสิทธิภาพขณะทำงานเป็นมูลค่าสูง ผลการศึกษาทำให้สังคมตระหนักถึงความสูญเสียอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น รัฐบาลควรมีการกำหนดนโยบายและมาตรการที่เหมาะสมในการลดการบริโภคแอลกอฮอล์ในประชากรวัยทำงานเพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นต่อไป
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2552, January-March ปีที่: 3 ฉบับที่ 1 หน้า 102-112
คำสำคัญ
Alcohol, Cost, ต้นทุน, Absenteeism, Presenteeism, Productivity loss, การขาดงาน, การสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงาน, การสูญเสียผลิตภาพ, แอลกอฮอล์