การวัดการทำหน้าที่ของสายตาและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกแบบ Phacoemulsification โดยใช้เลนส์ตาเทียมที่มีราคาต่างกัน
สมเกียรติ ศรไพศาล
Siripen Supakankunti
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้น ของการศึกษาประสิทธิผลของการรักษาโรคต้อกระจก ด้วยวิธีผ่าตัดแบบ Phacoemulsification ซึ่งใช้เลนส์ตาเทียมที่มีราคาต่างกัน โดยให้ลักษณะพื้นฐานที่เหมือนกันคือ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร ตัวและขาของเลนส์ตาเทียมเชื่อมต่อเป็นชิ้นเดียวกัน โดยขาของเลนส์แก้วตาเทียมเป็นรูปตัว C ประกอบด้วยเลนส์ตาเทียมชนิด A ซึ่งมีราคา 2,000 บาทต่อเลนส์ เลนส์ตาเทียมชนิด B ซึ่งมีราคา 600 บาท ต่อเลนส์ และเลนส์ตาเทียมชนิด C ซึ่งมีราคา 900 บาท ต่อเลนส์ ราคาของเลนส์ตาเทียมเป็นราคาที่ตั้งไว้ในปี 2001 โดยนำมาใช้ในวิธีการรักษาแบบเดียวกัน คือวิธีผ่าตัดต้อกระจกแบบ Phacoemulsification ดังกล่าวซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้ในกลุ่มจักษุแพทย์ เนื่องด้วยมีภาวะแทรกซ้อนต่ำ การผ่าตัดดังกล่าวนี้กระทำที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดลำปาง การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบการทำหน้าที่ของสายตา (Vision function / VF) และคุณภาพชีวิต (Quality of life / QOL) ก่อนและหลังการผ่าตัดโดยใช้เลนส์ตาเทียมที่มีราคา และเครื่องหมายการค้าต่างกันรวม 3 ชนิด สำหรับ VF และ QOL นี้ไดัรับการพัฒนาเป็นครั้งแรกโดย Fletcher และคณะ นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตราเสี่ยง ในเรื่องภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดด้วย การศึกษานี้เป็นแบบการศึกษาไปข้างหน้าโดยอาศัยพื้นฐานข้อมูลปฐมภูมิ ผู้ป่วยต้อกระจกที่ลงทะเบียนเข้ารับการผ่าตัด จะได้รับการคัดเลือกโดยใช้เกณฑ์ตามที่ได้ตั้งไว้แล้ว และผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดโดยจักษุแพทย์ผู้มีประสบการณ์ในการผ่าตัดอย่างน้อย 5 ปี โดยผู้ป่วยจะได้รับการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถามการทำหน้าที่ของสายตา (VF) และคุณภาพชีวิต (QOL) นอกเหนือจาก VF และ QOL แล้วยังมีการสัมภาษณ์ผู้ป่วยอีก 3 วิธี คือวิธี Standard gamble (SG), วิธี Visual analogue scale (VAS) และวิธี Time trade off (TTO) การวิเคราะห์ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน กล่าวคือขั้นตอนที่ 1 ได้แก่ การทดสอบความเที่ยงตรงของเครื่องมือแต่ละชนิด โดยการวิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เชิงส่วนและสมการถดถอย จากขั้นตอนที่1 นี้พบว่าเครื่องมือที่ดีที่สุดคือ QOL เครื่องมือระดับปานกลางคือ VF และ VAS และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพน้อยที่สุดคือ TTO และขั้นตอนที่ 2 คือการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยของคะแนนของการทำหน้าที่ของสายตา (VF) และคุณภาพชีวิต (QOL) "ก่อนการผ่าตัด" จนถึง "หลังการผ่าตัด 2 สัปดาห์" โดยเปรียบเทียบเลนส์ตาเทียมทั้ง 3 ชนิด ซึ่งใช้วิธี t-test จากการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย ปรากฏผลว่าคะแนนการทำหน้าที่ของสายตา (VF) "ก่อนการผ่าตัด" จนถึง "หลังการผ่าตัด 2 สัปดาห์" ของเลนส์ตาเทียมชนิด A มีมากกว่าคะแนนของเลนส์ตาเทียมชนิด B ...
ที่มา
M.Econ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2544