การศึกษาหาประสิทธิภาพระยะสั้นของยาด๊อกซาโซซินในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต โดยวิธีการแบบสุ่มปิดฉลากเปรียบเทียบกับยาหลอก
อนุพันธ์ ตันติวงศ์
จิตร สิทธิอมร
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบอัตราการดีขึ้นของอาการโรคต่อมลูกหมากโตที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนในชายอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งรักษาโดยยาด๊อกซาโซซินกับรักษาด้วยยาหลอกเป็นเวลา 3 เดือน รูปแบบ : การทดลองเปรียบเทียบกับยาหลอกแบบสุ่มปิดฉลาก สถานที่ : ในห้องตรวจระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประชากร : ผู้ป่วย 32 คน อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งมีคะแนนอาการ IPSS > 8, อัตราการไหลปัสสาวะสูงสุด < 15 มล.ต่อวินาที ไม่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือเคยรักษาโรคต่อมลูกหมากโต ได้รับการจับฉลากแบบสุ่มเพื่อรักษาโดยยาด๊อกซาโซซิน 15 คน และยาหลอก 17 คน วิธีการ : ผู้ป่วยได้รับยาด๊อกซาโซซินหรือยาหลอก ขนาด 1 มก. ก่อนนอนในวันที่ 1-3, 2 มก. ในวันที่ 4-10 และ 4 มก. ในวันที่ 11-21 เมื่อมาตรวจติดตามที่ 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยถูกประเมินความรู้สึกในการถ่ายปัสสาวะในครั้งนี้ โดยให้เปรียบเทียบกับการถ่ายปัสสาวะก่อนการได้ยา และใช้คำถามประเมินโดยรวมเพียง 1 คำถาม แสดงผลการศึกษาหลักหากตอบว่าอาการดีขึ้นมากผู้ป่วยจะได้รับยาขนาด 4 มก. ต่อไปจนครบ 3 เดือน แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นมาก ผู้ป่วยจะได้รับยาเพิ่มขึ้นเป็น 8 มก. จนครบ 3 เดือน ผู้ป่วยจะมาติดตามและประเมินด้วยคำถามเดียวกันเมื่อครบ 3, 6, 9 และ 12 สัปดาห์ ผล : กลุ่มได้ยาด๊อกซาโซซิน หรือยาหลอกมีอาการโดยรวมดีขึ้น 84.6% และ 80.0% ตามลำดับเมื่อนำผลประเมินที่มาตรวจติดตามครั้งสุดท้ายมารวมกัน แต่ถ้าประเมินที่ 6 สัปดาห์ ผลดีขึ้นเป็น 83.3% และ 66.7% ในกลุ่มยาด๊อกซาโซซิน และยาหลอกตามลำดับการเปลี่ยนแปลงของคะแนนอาการ IPSS และอัตราการไหลสูงสุดของปัสสาวะในกลุ่มยาด๊อกซาโซซินดีกว่ากลุ่มยาหลอกเพียงเล็กน้อย อาการแทรกซ้อนจากยาจริงพบมากกว่าแต่ผลเปรียบเทียบในทุกด้านทางสถิติไม่พบมีความแตกต่างกันเลยทั้งสองกลุ่ม สรุป : การศึกษาครั้งนี้ซึ่งจำกัดด้วยจำนวนผู้ป่วย พบว่าประสิทธิภาพระยะสั้นของยาด๊อกซาโซซินไม่แตกต่างทางคลินิก และทางสถิติจากยาหลอก ทั้งในการประเมินโดยรวม หรือคะแนนอาการ หรืออัตราไหลสูงสุดของปัสสาวะ แต่ถ้ารวมผลทั้งสามเข้าด้วยกันน่าจะทำให้ผลการศึกษาเชื่อถือได้มากขึ้น และอาจเห็นประสิทธิภาพของยาด๊อกซาโซซินได้
ที่มา
M.Sc. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2546
คำสำคัญ
Doxazosin, Prostate, Placebo