การวิเคราะห์ ต้นทุน-ผลได้ ของการจัดการเชิงกลยุทธ์เพื่อลดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน
วิษณุชัย ศรีจริยา
อาทร ริ้วไพบูลย์, อุษา ฉายเกล็ดแก้ว, เพชรรัตน์ พงษ์เจริญสุข
บทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบภาคตัดช่วงเวลา มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินต้นทุน-ผลได้ ของรูปแบบการบริหารจัดการที่เหมาะสม ในการลดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรของผู้ป่วยที่รับการรักษาที่โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ปีงบประมาณ 2547 ถึง 2549 ในมุมมองของสังคม ตัวแปรตามของการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วยสองตัวแปรคือ ต้นทุนทางตรงของการรักษาพยาบาลและต้นทุนอันเนื่องมาจากการเสียชีวิต วิเคราะห์สมการต้นทุนโดยใช้สถิติวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุและสถิติถดถอยโลจิสติกรวมทั้งมีการวิเคราะห์ความไวในการป้องกันอุบัติเหตุของตัวแปรหลักที่วิเคราะห์ได้จากผลการศึกษา ด้วยวิธีมอนติคาร์โลจำนวนผู้ป่วยที่เกิดอุบัติเหตุในช่วงทำการศึกษามีทั้งสิ้น 12,651 คน ผลการวิเคราะห์ด้วยสถิติถดถอยพหุถอยพบว่า ตัวแปรที่ใช้อธิบายความสัมพันธ์ได้แก่ เพศ อายุ การดื่มแอลกอฮอล์ การไม่สวมหมวกนิรภัย เวลาที่เกิดอุบัติเหตุ ประเภทของผู้ป่วยและความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อธิบายการเกิดต้นทุนได้ประมาณร้อยละ 60 สำหรับการวิเคราะห์ด้วยสถิติโลจิสติก สาเหตุการเสียชีวิตจากการไม่ใช้หมวกนิรภัยหรือเข็มขัดนิรภัยสูงกว่าการป้องกันถึง 3.56 เท่า (ค่า odds = 3.56, CI 2.62-4.85)และการดื่มแอลกอฮอล์ทำมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าการไม่ดื่มถึง 1.24 เท่า (ค่า odds = 1.24, CI 1.01-1.53)ต้นทุนทางตรงสำหรับการรักษาพยาบาล เมื่อกำหนดให้มีการรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุประสบความสำเร็จได้ร้อยละ 50 จะทำให้ต้นทุนลดลงจาก 26,709,449.76 บาทเป็น 20,983413.59 บาท (ร้อยละ 21.44) ในทำนองเดียวกันผลได้ทั้งหมดที่เกิดจากการบังคับใช้กฏหมายเท่ากับ 512,894,977.48. บาท เมื่อวิเคราะห์ความไวของผลลัพธ์ในการใช้มาตรการป้องกันอุบัติเหตุที่ระดับร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 50 จะมีสัดส่วนของผลได้ต่อต้นทุนระหว่าง 43.19 ถึง 91.16 ซึ่งคิดเป็นกำไรสุทธิ 501.02 ล้านบาทโดยสรุปการศึกษานี้ได้อธิบายกลยุทธ์ป้องกันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร ซึ่งพบว่าการบังคับใช้ทางกฏหมายในการใช้อุปกรณ์นิรภัยและการดื่มแอลกอฮอล์จะมีประสิทธิผลสูงสุด ในการลดต้นทุนการให้การรักษาพยาบาลกว่าร้อยละ 75 ของต้นทุนทั้งหมด
ที่มา
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (บริหารเภสัชกิจ) คณะ - มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2551
คำสำคัญ
Cost-benefit, DECISION TOOL, TRAFFIC INJURIES