การประเมินต้นทุน-อรรถประโยชน์ของการใช้ยากลุ่ม Cholinesterase inhibitors ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ระดับรุนแรงน้อยถึงปานกลาง
เสาวลักษณ์ ตุรงคราวี
Ph.D (Health Economics), ยศ ตีระวัฒนานนท์, สิรินทร ฉันศิริกาญจน(M.SC.Geriatric medicine), อุษา ฉายเกล็ดแก้ว
บทคัดย่อ
      วัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อประเมินต้นทุนอรรถประโยชน์ของยาในกลุ่ม cholinesterase inhibitors ได้แก่ donepezil rivastigmine และ galantamine เปรียบเทียบกับการไม่ใช้ยา ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ระดับรุนแรงน้อยถึงปานกลาง ในมุมมองของรัฐบาลและมุมมองทางสังคม และประเมินผลกระทบด้านงบประมาณหากมีการใช้ยากลุ่มนี้ในการรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ระดับรุนแรงน้อยถึงปานกลางการศึกษานี้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อทำนายการดำเนินของโรค เพื่อคำนวณต้นทุนและผลลัพธ์ทางสุขภาพหรืออรรถประโยชน์ ของการใช้ยาเปรียบเทียบกับการไม่ใช้ยารักษาแบบจำลองและตัวแปรที่ใช้ในแบบจำลองได้จากการทบทวนวรรณกรรมทางด้านประสิทธิผลทางคลินิกและต้นทุนประสิทธิผลอย่างเป็นระบบ ส่วนข้อมูลต้นทุนวิเคราะห์จากสถานพยาบาลในประเทศไทย และวิเคราะห์ความไวด้วยวิธี probabilistic sensitivity analysis เพื่อลดความคลาดเคลื่อนของตัวแปรที่นำมาใช้พบว่า หากความเต็มใจจ่ายของรัฐบาลและสังคมเท่ากับ 3 เท่าของรายได้ต่อหัวประชาชาติหรือ300,000บาท ต่อปีสุขภาวะที่ยืนยาวขึ้น(QALY gained) การรักษาด้วยยา galantamine มีความคุ้มค่าที่สุดในกลุ่มนี้และคุ้มค่าเมื่อรักษาในทุกสภาวะ เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใช้ยา ต้นทุนอรรถประโยชน์ของการรักษาด้วยยา galantamine คิดเป็น 229,367 และ 157,247 บาทต่อปีสุขภาวะที่ยืนยาวขึ้น ในมุมมองของรัฐ และมุมมองของสังคม นอกจากนั้นพบว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่มีคะแนน ADAS-cog 17 ถึง 30หรือผู้ที่มีอาการทางจิตประสาท หรือผู้ที่มีอาการทาง extra pyramidal symptom เป็นสภาวะที่ควรให้การรักษาเป็นอันดับแรกเนื่องจากมีความคุ้มค่ามากที่สุด หากพิจารณาภาระด้านงบประมาณหากมีการใช้ยากลุ่มนี้ในการรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ระดับรุนแรงน้อยถึงปานกลาง พบว่ามีมูลค่า 12,740 ล้านบาทในปีแรก นอกจากนั้นคุณภาพของการดูแลผู้ป่วยและผู้ดูแล รวมถึงการให้การสนับสนุนและให้การช่วยเหลือจากภาครัฐ ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่ช่วยให้การรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้ดียิ่งขึ้น
ที่มา
ภ.ม.(บริหารเภสัชกิจ) คณะ - มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2551
คำสำคัญ
Cost-utility analysis, ALZHEIMER’S DISEASE, CHOLINESTERASE INHIBITORS, FULL TIME CAR, PRE FULL TIME CARE