คุณภาพชีวิตของพระสงฆ์ที่อาพาธด้วยโรคเรื้อรังที่มารับบริการทางการแพทย์ ณ โรงพยาบาลสงฆ์
ภัทรพล ตันเสถียร
พิมพา ขจรธรรม ปช.ด., วิไล กุศลวิศิษฎ์กุล วท.ม., อรอนงค์ สงเจริญ วท.ม.
บทคัดย่อ
        การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของพระสงฆ์ที่อาพาธด้วยโรคเรื้อรังกลุ่มตัวอย่างเป็นพระสงฆ์ที่อาพาธด้วยโรคเรื้อรัง จำนวน 227 รูป เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ โดยใช้แบบวัดคุณภาพชีวิต (SF-36V2) ปัจจัยที่ศึกษาได้แก่ อายุ อายุพรรษา สถานภาพสมรสก่อนบวช ระยะเวลาของการอาพาธ จำนวนชนิดของโรคที่อาพาธ และการสนับสนุนทางสังคม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ และการวิเคราะห์ความแปรปรวน (One-way ANOVA) ผลการศึกษาพบว่าพระสงฆ์ที่ศึกษาเกือบครึ่งหนึ่ง เป็นโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 43 มีอายุเฉลี่ย 57.92 ปี ส่วนใหญ่มีอายุพรรษาต่ำกว่า 10 ปี ร้อยละ 42.5 มีสถานภาพสมรสก่อนบวชแบบคู่ ร้อยละ 51.5 มีระยะเวลาของการอาพาธต่ำกว่า 4 ปี ร้อยละ 49.8 ส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรังโรคเดียว ร้อยละ 48.9 แหล่งสนับสนุนทางสังคมจากญาติโยมและครอบครัวมีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด ร้อยละ 53.2 คะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตโดยรวมเท่ากับ 57.23 โดยตัวแปรด้านอายุ และจำนวนชนิดของโรคเรื้อรังที่เป็นมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 (p-value < 0.001) ทั้งโดยรวม และรายด้าน ส่วนพระสงฆ์ที่มีสถานภาพสมรสก่อนบวชที่แตกต่างกันมีคุณภาพชีวิต แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งโดยรวม และรายด้านเช่นกัน โดยคู่ที่แตกต่างกันคือสถานภาพโสดและคู่ ส่วนการสนับสนุนทางสังคมมีเพียงการสนับสนุนทางสังคมจากญาติโยม และครอบครัวเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพทางร่างกายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (p-value = 0.024)คุณภาพชีวิตของพระสงฆ์สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีเพียงเล็กน้อย และมีการสนับสนุนทางสังคมจากแหล่งต่าง ๆ อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นการดูแลพระสงฆ์ที่อาพาธด้วยโรคเรื้อรัง จึงควรให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้พระสงฆ์ที่อาพาธด้วยโรคเรื้อรังได้รับการสนับสนุนทางสังคมจากญาติโยม และครอบครัว รวมทั้งจากพระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์และเพื่อนพระภิกษุด้วยกันที่ดีเพียงพอ มีการพัฒนารูปแบบการให้บริการและดูแลพระสงฆ์ที่อาพาธด้วยโรคเรื้อรังอย่างองค์รวม และต่อเนื่องเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพระสงฆ์ที่อาพาธด้วยโรคเรื้อรังให้ดีขึ้น
ที่มา
ศศ.ม. (งานบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ) คณะ - มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2550
คำสำคัญ
Quality of life, CHRONIC ILLNESS, MONK, SF-36V2